ชาวดิน ออนเน็ต

***อนิจา วาสนา ไพร่***

เรียกร้องเถอะ ร่ำหา กันให้ตาย
เคยบ้างไหม เคยได้ สิ่งที่หวัง
กราบแทบเท้า ติดดิน ร้องเสียงดัง
มีสักครั้ง บ้างไหม ใครเมตตา

สิ่งที่ขอ รอมา กี่ชาติแล้ว
ไร้วี่แวว สิทธิ ที่ใฝ่หา
เป็นแค่ไพร่ เขาชี้ เป็นอีกา
อย่าได้มา ร่วมหงส์ ดงผู้ดี
ร้องขอมา กี่ปี กี่ชาติแล้ว
ก็ไม่แคล้ว โดนด่า ฆ่าทุบตี
จากปู่ย่า มาถึง ทุกวันนี้
ถูกย่ำยี ไล่บี้ ให้จำนน
ตายแล้วสิบ เกิดใหม่ ได้เป็นแสน
แต่ขาแขน ถูกตรึง ด้วยเล่ห์กล
แล้วเมื่อไหร่ สิ่งนี้ จะหลุดพ้น
รับกฏโจร กฏหมาย ไร้ปราณี
อนิจา วาสนา ชะตาไพร่
ถูกใส่ร้าย กล่าวหา ว่าบัดสี
ทั้งหมอบกราบ ก้มไหว้ อย่างภักดี
แพ้วจี คนโฉด โป้ปดลวง
คงถึงครา แล้วหนา บรรดาไพร่
แม้ร่ำไห้ ร้องขอ ก็ช้ำทรวง
เขาไม่แล พวกเรา ไพร่ทั้งปวง
ต้องวัดดวง ทวงค่า ความเป็นคน


โดย ยรรยง ลูกชาวดิน

7 / มีนาคม / 2553
........


วันอังคาร, ตุลาคม 28, 2551

สงครามครั้งสุดท้าย อุดมการณ์ทำลายชาติ

จากประชาทรรศน์
28 ต.ค.51

กลุ่มพันธมิตรฯ ที่นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล กลับมาปลุกระดมมวลชนทำนองว่าพวกทุนนิยมเสรีจะเป็นฝ่ายทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เสียเอง ตรงกันข้ามกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ว่าพวกคอมมิวนิสต์จะทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยสิ้นเชิง… แต่ข้าพเจ้าไม่ค่อยรู้จัก สนธิ ลิ้มทองกุล ดีพอ จึงไม่อาจตอบคำถามได้ว่า ศาสนาที่นายสนธิ นับถือนั้น จริงๆ แล้วคือศาสนาอะไร...”

มีคนมาตั้งคำถามเอากับข้าพเจ้าว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญของพันธมิตรพันธมารที่เขาประกาศอุดมการณ์ทำสงครามครั้งสุดท้ายว่า เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์นั้น ตัวเขานับถือศาสนาใดกันแน่
เหตุที่ตั้งคำถามเช่นนั้นก็เพราะว่า คนพวกนี้ประกาศอุทิศชีวิตเพื่อสถาบันทั้งสาม คล้ายๆ กับกลุ่มลูกเสือชาวบ้านที่ถูกจัดตั้งขึ้นต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังแพร่หลายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
อุดมการณ์เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่ได้รับการเผยแพร่ในขณะนั้นทำให้ขบวนการนิสิตนักศึกษาที่สำลักประชาธิปไตยสะดุดได้จริง และเมื่อเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519 ก็ทำให้พวกเขาเหล่านั้นต้องเตลิดเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนที่จะทำให้พรรคเขาพังแล้วจึงกลับเข้าเมืองเพื่อแสวงหาความร่ำรวยกันตามธรรมดาต่อไป
เมื่อบ้านเมืองเริ่มมีประชาธิปไตยใหม่หลังได้รัฐธรรมนูญ 2522 โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2524 มาจนถึง พ.ศ.2548 เกือบ 3 ทศวรรษเราพูดกันแต่เรื่องประชาธิปไตยสมบูรณ์ มากกว่าที่จะพูดเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพราะละไว้ในฐานที่เข้าใจ ว่า อุดมการณ์ทั้ง 3 นั้นอยู่ในใจทุกคนอยู่แล้ว ไม่ต้องท่องออกมาดังๆ
ในช่วงที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ถอยหลังลงคลองอยู่บ้าง เช่น การเสนอแก้ไขให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่แล้วกระแสลมพัดหวนเหล่านั้นก็ถูกตีแตกไปโดยขบวนการประชาธิปไตยอันมี ร.ต.ฉลาด วรฉัตร บ้าง พ.ต.ต.อนันต์ เสนาขันธ์ บ้าง เป็นแกนนำ
กระทั่งถึงปี 2531 ที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจก้าวลงจากอำนาจ ปล่อยให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นเป็นผู้นำประเทศแทน แต่ก็มาพลาดท่าเสียด้วยความประมาทปล่อยให้นักการเมืองอาชีพทำมาหากินกันมากเกินไป คณะทหารจึงเข้ายึดอำนาจอีกครั้งหนึ่งในปี 2534
แต่ก็ไม่ได้ประกาศอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่ประการใด
การต่อสู้ระหว่างประชาชนกับคณะ รสช.ในปี 2535 ก็เป็นเรื่องประชาธิปไตยล้วนๆ ประเด็นหลักคือนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้นจะเอาคนนอกมาเป็นไม่ได้
ในการต่อสู้นั้น ไม่มีฝ่ายใดชูอุดมการณ์เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เช่นเคย และเหตุผลก็เป็นเพราะส่วนใหญ่ต่างมีอุดมการณ์นี้อยู่ในใจ ไม่มีความจำเป็นต้องงัดออกมาเพื่อเป็นอาวุธทำร้ายใคร
นี่แหละครับ จนกระทั่งถึงปี 2548 นี่แหละ จึงมีคนยกอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ขึ้นมาเป็นเครื่องมือปลุกระดมคนมาช่วยกันโค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล กับเพื่อนๆ ของเขาที่ส่วนหนึ่งเคยหนีเข้าป่าไปหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กลับมาใช้อุดมการณ์นี้ปลุกระดมมวลชนขึ้นทำลายฝ่ายตรงข้าม เป็นทำนองว่าพวกทุนนิยมเสรีจะเป็นฝ่ายทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เสียเอง
ตรงกันข้ามกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ว่าพวกคอมมิวนิสต์จะทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยสิ้นเชิง
ข้าพเจ้านั่งอยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดที่ว่านี้คือ ตลอด 3 ทศวรรษแห่งการต่อสู้ ข้าพเจ้ารู้จักเกือบทุกคนที่แสดงบทบาท ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ค่อยสงสัยในวิธีการและเป้าหมายการต่อสู้ของเขา
เพียงแต่ข้าพเจ้าไม่ค่อยรู้จัก สนธิ ลิ้มทองกุล ดีพอ ข้าพเจ้าจึงไม่อาจตอบคำถามได้ว่า ศาสนาที่นายสนธิ นับถือนั้น จริงๆ แล้วคือศาสนาอะไร
ในขณะที่ทำอาชีพสื่อ ก่อนที่จะละมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเต็มตัวนั้น ข้าพเจ้าได้ยินว่า นายสนธินับถือพุทธศาสนา เถรวาท แบบเดียวกับที่คนไทยส่วนใหญ่เรานับถือกันนี่แหละ และพระที่เขานับถือเป็นอาจารย์คือพระหนุ่มที่มีคนเรียกขานว่าหลวงปู่ ดูเหมือนท่านจะเป็นเจ้าอาวาส วัดอ้อน้อย อยู่แถวๆ นครปฐม
ต่อมาเมื่อเขาเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้มข้นขึ้น เขาก็ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี

แต่คราวนี้เห็นจะเป็นเพราะว่ามีประโยชน์ร่วมกันเสียมากกว่า เพราะหลวงตาบัวดังสุดขีดมาจากการทอดผ้าป่าช่วยชาติอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจล่มสลายในปี พ.ศ.2540 แล้วเกิดขลังขึ้นมารับอาสาเป็นผู้พิทักษ์ตำแหน่งสังฆราชให้กับสมเด็จพระญาณสังวร โดยที่สมเด็จฯ ท่านทรงชราและอาพาธ ทางรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แก้ปัญหาการบริหารคณะสงฆ์ด้วยการตั้งคณะผู้ปฏิบัติงานแทน บังเอิญได้ พระสายมหานิกายคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกษ เป็นประธานกรรมการ
นายสนธิได้โอกาสปลุกระดมว่ารัฐบาลบังอาจตั้งสังฆราชซ้อนขึ้น 2 องค์
หลวงตามหาบัว รวบรวมชื่อพระสงฆ์สายป่าและคฤหัสถ์ที่เป็นลูกศิษย์เกินกว่าแสนคนทูลเกล้าฯถวายฎีกา แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีพระราชกระแสว่าอย่างไรลงมา
ผลลัพธ์จึงกลายเป็น นายสนธิ ได้เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงตาและได้เคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกันหลายเรื่องหลายประเด็น
แต่แล้วเมื่อรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกโค่นลงไปเพราะการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หลวงตาก็จำศีลเงียบๆ อยู่กับวัด ส่วนนายสนธิ ขับเคลื่อนพลออกมาต่อต้านรัฐบาลใหม่ของ นายสมัคร สุนทรเวช ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
คราวนี้นายสนธิ ได้กำลังหลักเด่นชัดจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ นายรักษ์ รักษ์พงษ์ เจ้าสำนัก สันติอโศก
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การชุมนุมในปีนี้ของสนธิจะไม่มีทางสำเร็จได้เลยถ้าไม่มี กองทัพธรรม ของสันติอโศกอุปถัมภ์ในทุกๆ ด้าน
เราจึงได้เห็น นายสนธิ ลิ้มทองกุล หมอบราบกราบกราน รักษ์ รักษ์พงษ์ ใช้สรรพนามเรียกขานว่า พ่อท่าน กับบุคคลซึ่งเป็นกบฏต่อมหาเถรสมาคมและเป็นปาราชิกออกไปจากความเป็นพระในพุทธศาสนา เถรวาทไทย
นายสนธิ ทิ้งหลวงปู่วัดอ้อน้อยและหลวงตาวัดบ้านตาดมาเป็นศิษย์เอกคนใหม่ของ นายรักษ์ รักษ์พงษ์ สาวกสาย เทวทัต ซึ่งเป็นลัทธิอันตรายต่อคณะสงฆ์ไทยไปหลายเพลาแล้ว

นี่พอจะเป็นคำตอบให้ผู้สงสัยได้บ้างหรือไม่ - สุดแต่ท่านจะพิจารณา

โดย วีระ มุสิกพงศ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก