ชาวดิน ออนเน็ต

***อนิจา วาสนา ไพร่***

เรียกร้องเถอะ ร่ำหา กันให้ตาย
เคยบ้างไหม เคยได้ สิ่งที่หวัง
กราบแทบเท้า ติดดิน ร้องเสียงดัง
มีสักครั้ง บ้างไหม ใครเมตตา

สิ่งที่ขอ รอมา กี่ชาติแล้ว
ไร้วี่แวว สิทธิ ที่ใฝ่หา
เป็นแค่ไพร่ เขาชี้ เป็นอีกา
อย่าได้มา ร่วมหงส์ ดงผู้ดี
ร้องขอมา กี่ปี กี่ชาติแล้ว
ก็ไม่แคล้ว โดนด่า ฆ่าทุบตี
จากปู่ย่า มาถึง ทุกวันนี้
ถูกย่ำยี ไล่บี้ ให้จำนน
ตายแล้วสิบ เกิดใหม่ ได้เป็นแสน
แต่ขาแขน ถูกตรึง ด้วยเล่ห์กล
แล้วเมื่อไหร่ สิ่งนี้ จะหลุดพ้น
รับกฏโจร กฏหมาย ไร้ปราณี
อนิจา วาสนา ชะตาไพร่
ถูกใส่ร้าย กล่าวหา ว่าบัดสี
ทั้งหมอบกราบ ก้มไหว้ อย่างภักดี
แพ้วจี คนโฉด โป้ปดลวง
คงถึงครา แล้วหนา บรรดาไพร่
แม้ร่ำไห้ ร้องขอ ก็ช้ำทรวง
เขาไม่แล พวกเรา ไพร่ทั้งปวง
ต้องวัดดวง ทวงค่า ความเป็นคน


โดย ยรรยง ลูกชาวดิน

7 / มีนาคม / 2553
........


วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 25, 2551

ช่างน่าขำ ศักดินาอำมาตย์ ต้องการหยุดสังคมไทยไว้ที่ปลายยุคเกษตรกรรม

บทความโดย..ลูกชาวนาไทย

ที่มา .thaifreenews.

ผมได้ศึกษาประวัติศาสตร์ลัทธิเศรษฐกิจและการเมืองมาพอสมควรทีเดียว จนได้ข้อสรุปจากประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศยุโรปว่า เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านจากยุคเกษตรกรรมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม คนชั้นล่างที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจะต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจทางการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อบวกเข้ากับลัทธิระบอบประชาธิปไตย ที่เน้นการเข้าสู่อำนาจรัฐโดยวิธีการเลือกตั้ง ในที่สุดแล้ว คนชั้นล่างที่มีจำนวนมากกว่า และเกิด "จิตสำนึกทางการเมือง" ขึ้น พวกเขาจะใช้สิทธิในการโหวต ลงคะแนนออกเสียงเลือกพรรคที่ให้ประโยชน์แก่พวกเขามากที่สุด และจะเลือกผู้แทนของเขาอย่างเป็นกลุ่มก้อน เพื่อให้มีพลังในการดำเนินนโยบายต่างๆ ตามที่คนรากหญ้าต้องการ ซึ่งก็คือนโยบายที่โปรคนรากหญ้าต่างๆ เช่น นโยบายประชานิยม หรือ นโยบายพวก Social Safety Net ต่าง ๆ ซึ่งเราก็ได้เห็นในประเทศตะวันตกต่างๆ

คนชั้นล่างในช่วงแรกจะออกเสียงลงคะแนนตามระบบอุปถัมภ์คือ เลือกตัวบุคคลมากกว่าเลือกพรรคเพราะในยุคเกษตรกรรม คนชั้นล่างมีความผูกพันกับระบบอุปถัมป์มาแต่เดิมในสังคมเกษตรกรรม ความต้องการในชุมชนยังคงมีเพียงพวกโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน โรงเรียน ไฟฟ้าเป็นต้น นโยบายรัฐบาลยังไม่มีผลกระทบต่อคนรากหญ้ามากเท่าใดนั้น หากฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำไร่ไถ่นาได้ คนก็ไม่เดือดร้อนเท่าใดนัก สส.ที่สามารถนำความเจริญเข้าหมู่บ้าน ชุมชนได้ ชาวบ้านจะเลือกเข้าไปเพื่อทำสิ่งเหล่านี้

แต่เมื่อสังคมพัฒนาไปมากขึ้น ประเทศเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ลูกหลานของชาวนาเหล่านี้อพยพเข้ามาทำงานในเมือง ในช่วงแรกๆ ก็เป็นการเข้ามาหางานทำตามฤดูกาล พอถึงฤดูทำนา ลูกหลานคนชนบทเหล่านี้ก็กลับไปทำนากับพ่อแม่ พ้นหน้านา ก็เข้าเมือง เป็นอยู่อย่างนี้ จนเกิด Generation ที่สองคือลูกของคนเหล่านี้ที่มักเกิดขึ้นในเมืองอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ไม่กลับไปทำนาอีกแล้ว โครงสร้างสังคมก็เปลี่ยนไป

เมื่อประเทศเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น คนเดินทางไปมาระหว่างชนบทกับเมือง ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมป์เดิมเสื่อมลงไป คนกึ่งชนบทกึ่งเมืองเหล่านี้ไม่ได้ผูกพันอยู่กับระบบเดิมอีกต่อไป

ดังนั้น พวกเขาก็จะเกิดการเรียนรู้ว่า การเลือกตั้งนั้นมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา พวกเขาก็จะค่อยๆ ออกเสียงเลือกระบบพรรคมากกว่าเลือกตัวบุคคล เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง สมมุติว่าเป็น X ปี พฤติกรรมการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อสังคม สัดส่วนของคนที่เลือกพรรคมีมากกว่าเลือกบุคคลในระบบอุปถัมป์ สุดท้ายระบบการเมืองแบบพรรคใหญ่จะเกิดขึ้น

คนชนบทต้องการนโยบายที่เราเรียกกันว่าแนวทางเสรีนิยมหรือ Liberal ซึ่งสุดท้ายพรรคการเมืองแนว Liberal ที่เน้นให้คนชั้นล่างเข้ามามีส่วนทางสังคม มีรัฐสวัสดิการ หรืออื่นๆ เป็นต้น ก็จะชนะเลือกตั้งจนได้

ในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน คนชั้นนำที่เคยมีอำนาจในสังคมเดิม จะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และสุดท้ายอาจเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ในหลายประเทศ เช่นเหมือนอังกฤษในศตวรรษที่ 17 ที่เรียกว่า Glory Revolution ซึ่งในยุคของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ที่ตั้งตัวเป็น Lord Protector of England (สมัยนั้นยังไม่มีระบอบประธานาธิบดี) จนยุคนั้นอังกฤษว่างกษัตริย์ถึง 5 ปี ทีเดียว นั้นคือ สงครามการเปลี่ยนผ่านของสังคมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ซึ่งในที่สุดมันก็ไม่มีใครสามารถต่อต้านการเปลี่ยนแปลงได้ พรรคแนวทางเสรีนิยม ก็ต้องเข้ามาแทนที่กลุ่มอำนาจเดิมอยู่ดี มันคือพัฒนาการทางสังคม

บางประเทศก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ได้ดี เพราะ “คนชั้นนำ” รู้จักปรับตัวและเข้าใจ “สัจธรรม” การเปลี่ยนแปลงของสังคม และไม่ต่อต้าน ซึ่งประเทศแบบนี้ก็จะโชคดีไม่เกิดสงครามกลางเมือง เพราะไม่ว่าจะอย่างไร คนส่วนใหญ่ก็ต้องชนะอยู่วันยังค่ำ คนชั้นนำ อาจต้านทานได้ชั่วเวลาหนึ่ง แต่มันเป็นแค่ปัญหาของเวลาเท่านั้น แต่พวกเขาหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ประเทศต่างๆ ในยุโรปก็เผชิญสภาพเช่นนี้เหมือนกัน คือ สังคมมันเปลี่ยนผ่านระบบเลือกตั้ง ทำให้อำนาจไปตกอยู่ในมือประชาชน ในช่วงแรกประชาชนยังไม่มีการเรียนรู้ ก็จะขายสิทธินี้ของตน เกิดระบบการซื้อเสียงเป็นต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป X ปี สุดท้ายก็เกิดการเรียนรู้จนได้

เมืองไทย "คนรากหญ้าของไทย" ได้เรียนรู้ไปแล้ว โดยใช้เวลาตั้งแต่ปี 2475-2540 ในการพัฒนาการเรียนรู้ และสุดท้ายในยุคทักษิณที่คนรากหญ้าตระหนักในอำนาจของตนก็มาถึง
แม้ว่าจะมี "อำนาจทางจารีต" ที่บังเอิญค่อนข้างแข็งในเมืองไทย มากกว่าอังกฤษช่วงนั้น ทำให้เกิดปฏิกิริยาย้อนกลับ ในช่วงปี 2549

แต่ผมไม่เชื่อว่า "ปฏิกิริยาย้อนกลับ" นี้จะสามารถ หยุดยั้งวิวัฒนาการได้ อย่างมากก็ย้อนกลับได้ชั่วคราว ผมไม่เชื่อว่าสังคมไทยที่ "เรียนรู้ไปแล้ว" จะหยุดนิ่งอยู่ที่ปี 2551 ได้

ผมคิดแล้วช่างน่าขำจริงๆ ที่พวกเขาจะหยุด "สังคมไทยไว้ที่ปลายยุคเกษตรกรรม” ตลอดไป ซึ่งก็คือการต่อต้านทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคมอย่างแท้จริง ผมมั่นใจว่า อย่างมากก็หยุดได้ "เท่ากับเวลาที่เหลืออยู่ของอำนาจทางจารีต" นั่นแหละครับ เหลือไม่กี่ปีหรอกครับ

การมองข้ามพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ปลายขอบฟ้า แล้วเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม นั่นคือผู้นำที่มีอัจฉริยะภาพสูงส่ง ประเทศไทยเผชิญปัญหาวิกฤติเช่นนี้มาแล้วนาสมัยปลายรัชกาลที่ 3 ที่สังคมในระดับโลกและภูมิภาคเริ่มเปลี่ยนแปลง แต่สังคมไทยยังตกอยู่ในสังคมแบบจารีต โครงสร้างสังคมยังเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งก็คือยุคกลางหรือยุค Medieval ของยุโรปแบบที่เราเห็นในหนังเรื่อง Brave heart นั่นเอง

แต่โชคดี รัชกาลที่ 4 ไม่ได้ครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 2 ต้องหนีราชภัยไปบวช 27 ปี ช่วงที่บวชอยู่นั้น ท่านได้ติดต่อแลกเปลี่ยนกับฝรั่งมิชชันนารีและเรียนภาษาอังกฤษและวิทยาการตะวันตก ทำให้โลกทรรศน์ของท่านเปลี่ยนไป “หลุดพ้นจากยุคกลางโดยสิ้นเชิง” ท่านมองเห็นพายุการเปลี่ยนแปลงที่ปลายขอบฟ้า และเตรียมตัวปรับเปลี่ยนประเทศไทยทันทีที่ท่านมีอำนาจและปลูกฝังให้ ร.5 ดำเนินการปรับเปลี่ยนสังคมไทยต่อมา

เราไม่เห็น “อัจฉริยภาพ” ของคนที่มองข้ามไปที่ปลายขอบฟ้าได้อีกแล้วในยุคนี้

พวกเขากับทำแบบสมัยปลายรัชกาลที่ 3 คือพยายามต่อต้านการเปลี่ยนแปลงรักษาสังคมเดิมไว้ สุดท้ายก็ไม่ต่างจากประเทศต่างๆ รอบประเทศไทย คือ โดนยึดเป็นเมืองขึ้น ราชวงศ์สูญสลายไปหมดสิ้น

ผมรู้สึกว่าทักษิณ ชินวัตร คือคนหนึ่งที่สามารถมองข้ามปลายขอบฟ้าไปได้ แต่เขาไม่มีพลังเพียงพอที่จะนำสังคมรับกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ จนถูกอำนาจทางจารีตทำร้ายเอาอย่างรุนแรง แต่ในที่สุดแล้ว เชื่อเถอะว่า สังคมต้องหมุนข้ามจุดนี้ไปจนได้ และทักษิณหากไม่ตายไปก่อนก็จะชนะในที่สุด

.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก