ชาวดิน ออนเน็ต

***อนิจา วาสนา ไพร่***

เรียกร้องเถอะ ร่ำหา กันให้ตาย
เคยบ้างไหม เคยได้ สิ่งที่หวัง
กราบแทบเท้า ติดดิน ร้องเสียงดัง
มีสักครั้ง บ้างไหม ใครเมตตา

สิ่งที่ขอ รอมา กี่ชาติแล้ว
ไร้วี่แวว สิทธิ ที่ใฝ่หา
เป็นแค่ไพร่ เขาชี้ เป็นอีกา
อย่าได้มา ร่วมหงส์ ดงผู้ดี
ร้องขอมา กี่ปี กี่ชาติแล้ว
ก็ไม่แคล้ว โดนด่า ฆ่าทุบตี
จากปู่ย่า มาถึง ทุกวันนี้
ถูกย่ำยี ไล่บี้ ให้จำนน
ตายแล้วสิบ เกิดใหม่ ได้เป็นแสน
แต่ขาแขน ถูกตรึง ด้วยเล่ห์กล
แล้วเมื่อไหร่ สิ่งนี้ จะหลุดพ้น
รับกฏโจร กฏหมาย ไร้ปราณี
อนิจา วาสนา ชะตาไพร่
ถูกใส่ร้าย กล่าวหา ว่าบัดสี
ทั้งหมอบกราบ ก้มไหว้ อย่างภักดี
แพ้วจี คนโฉด โป้ปดลวง
คงถึงครา แล้วหนา บรรดาไพร่
แม้ร่ำไห้ ร้องขอ ก็ช้ำทรวง
เขาไม่แล พวกเรา ไพร่ทั้งปวง
ต้องวัดดวง ทวงค่า ความเป็นคน


โดย ยรรยง ลูกชาวดิน

7 / มีนาคม / 2553
........


วันพุธ, ธันวาคม 10, 2551

รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

วันรัฐธรรมนูญ หมายถึง วันที่ระลึกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด

รัฐธรรมนูญ หมายถึงกฎหมายสูงสุดในการจัดการปกครองรัฐ ถ้าแปลตามความหมายของคำ จะหมายถึง การปกครองรัฐอย่างถูกต้องเป็นธรรม (รัฐ + ธรรม + มนูญ)

ในความหมายอย่างแคบ "รัฐธรรมนูญ" ต้องมีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่ใช่สิ่งเดียวกับ กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" มีความหมายกว้างกว่าและจะเป็นรูปแบบลายลักษณ์อักษรหรือจารีตประเพณีก็ได้

รัฐธรรมนูญในปัจจุบันนั้น มีทั้งเป็นลักษณะลายลักษณ์อักษร และลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่ลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากจะใช้หลักของจารีต ประเพณีการปกครองแล้ว กฎหมายทุกตัวที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง ย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญด้วย

ทุกประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการ เพื่อใช้เป็นหลักหรือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายสูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทยอื่นๆ จึงจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ โดยในปัจจุบันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญและวินิจฉัยข้อขัดแย้งข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองราชอาณาจักรไทย ซึ่งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ราชอาณาจักรไทยมีรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 18 ฉบับ แสดงให้เห็นถึงการขาดเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ ซึ่งฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ภาพรวมของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ในทางวิชาการกฎหมายนั้นแนวคิดประชาธิปไตยตะวันตกได้ถ่ายทอดอยู่ในรูปแบบของทฤษฎีกฎหมายที่เรียกว่า ทฤษฎีรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการสามประการ คือ การรับรองสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการเสริมสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้กับรัฐบาล รัฐธรรมนูญไทยหลายๆฉบับได้ยอมรับแนวคิดดังกล่าวและนำมาเป็นเจตนารมณ์แห่งรัฐ ธรรมนูญในการกำหนดกรอบในการตราบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลายๆฉบับของไทย เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้น โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติอย่างชัดแจ้งถึงหลักการดังกล่าวในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ [1]

ดังนั้นโดยสภาพแล้วรัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับที่มีกรอบความคิดแบบตะวันตก ควรที่จะเกิดผลตามครรลองประชาธิปไตยตะวันตกเหมือนอย่างประเทศตะวันตก แต่ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองไทยดูเหมือนได้สวนทางกับ ระบบการเมืองของตะวันตก ซึ่งต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกฎหมายลายลักษณ์อักษรสูงสุดของรัฐ ประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง ซึ่งขัดกับแนวคิดทางนิติศาสตร์ที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ซึ่งควรมีความศักดิ์สิทธิ์และคงทนถาวร

สำหรับประเทศ ไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้นนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหา กษัตริย์เป็นประมุขที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมาประเทศไทยได้มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายแม่บทสูงสุดในการปกครองที่ประเทศหลายฉบับรัฐธรรมนูญดังกล่าว ปรากฏใน 2 ลักษณะคือ ลักษณะหนึ่งเป็นรัฐธรรมนูญ มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวรโดยที่มีการยกร่างกันอย่างเป็นระบบกับอีกลักษณะ คือรัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการชั่วคราวซึ่งมักจะเรียกว่าธรรมนูญการปกครองนั่นเอง

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบางฉบับใช้บังคับเป็นเวลานาน เช่น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งเกิดขึ้นโดยการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช้บังคับเป็นเวลา 9 ปีเศษแต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรหลายฉบับใช้บังคับในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะเป็น รัฐธรรมนูญที่มีหลักการสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่สอด คล้องกับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองซึ่งไม่ได้อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้ จริง ทว่าตกอยู่ในมือของกลุ่มข้าราชการประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะนายทหารระดับสูง ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวร จึงมักจะถูกยกเลิก โดยการทำรัฐประหาร โดยคณะผู้นำทางทหาร เมื่อคณะรัฐประหาร ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น คณะปฏิวัติ คณะปฏิรูป หรือคณะรักษาความสงบเรียบร้อย ยึดอำนาจได้สำเร็จก็จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวแล้วจึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวรแล้วก็จะมีการเลือกตั้ง และตามด้วยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่เมื่อรัฐบาลดังกล่าวบริหารประเทศไปได้สักระยะหนึ่งก็จะถูกทำการรัฐประหาร และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แล้วก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พร้อมทั้งจัดให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใหม่อีก หมุนเวียนเป็นวงจรการเมืองของรัฐไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานนับหลายสิบปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา

แม้จะเกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเข้าร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็น ประชาธิปไตยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจรทำรัฐประหารรัฐบาลของตนเอง เพราะขณะทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองนั้น จอมพลถนอม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พร้อมกับเตรียมร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรตามวงจร การเมืองของไทยที่เคยเป็นมา ก็เกิดกระบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนทำให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินทางออกนอกประเทศไทย และแม้ต่อมาจะมีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ที่เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งมีหลักการที่เป็นประชาธิปไตยมากฉบับหนึ่ง แต่ในที่สุดก็มีการทำรัฐประหารอีก และก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้วงจรการเมืองไทยหมุนกลับไปสู่วงจรเดิม คือ รัฐประหาร ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จัดให้มีการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และทำรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซ้ำซากไม่จบสิ้น เฉลี่ยแล้ว รัฐธรรมนูญไทยเปลี่ยนแปลงทุกๆ 4 ปี ต่างจากกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว ซึ่งนับตั้งแต่ประกาศใช้ จำนวน 7 มาตรา 55 อนุมาตรา ใน พ.ศ. 2332 จนถึงปัจจุบันสองร้อยกว่าปีนั้น ก็มีแต่การแก้ไขให้ทันสมัยเท่านั้น ยังหาได้มีการยกเลิกทั้งฉบับเฉกเช่นกรณีของประเทศไทยแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี มิใช่ว่ารัฐธรรมนูญที่ดี จะไม่อาจแก้ไขได้เลย เพราะในความเป็นจริงย่อมไม่มีกฎหมายฉบับใดที่เหมาะสมกับทุกเวลาสถานการณ์ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญก็อาจแก้ไขได้ ตามเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ต้องเป็นไปตามความจำเป็นเท่านั้น อาทิ กรณีของสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวมาข้างต้น ปัจจุบันยังไม่เคยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ยังคงใช้ฉบับเดิมมาแต่แรก มีเพียงการแก้ไขปรับปรุงส่วนที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้น การจะทำให้กลไกหรือมาตรการต่างๆ ในรัฐธรรมนูญยั่งยืนถาวรได้นั้น จึงอยู่ที่ทุกคนในสังคมที่จะกำหนดวัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมว่าจะมีส่วนเข้าใจและเข้าถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยได้เพียงใด

การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ก่อนที่ราชอาณาจักรไทยจะมีรัฐธรรมนูญนั้น ราชอาณาจักรไทยมีระบอบสมบูรณาฐาสิทธิราชย์เป็นระบอบการปกครอง ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย เมื่อคณะราษฎร์ ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการสายทหารบก ทหารเรือ และสายพลเรือน จำนวน 99 คน โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ ณ พระตำหนักไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงตัดสินพระทัยที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยสงบ ดังความตามพระราชหัตถเลขา (ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ) ที่ทรงเขียนในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 ไม่ลงวันที่ พระราชทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งได้แปลเป็นภาษาไทยในหนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ เล่ม 2 ความดังนี้ [2]

ฉันรู้สึกเสียดายอย่างยิ่งที่เขามิได้คิดจะ ถอดฉัน และฉันยังเสียใจอยู่จนบัดนี้ ความรู้สึกขั้นแรกก็คือจะลาออกทันที แต่สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ แนะนำว่าไม่ควรทำ เพราะถ้าทำเช่นนั้นอาจมีการรบกันจนนองเลือดทั้งยุ่งยากต่างๆ จนอาจมีฝรั่งเข้ามายุ่งและชาติเราอาจเสียอิสรภาพได้...

ถ้าเราจะรบโดยใช้ทหารหัวเมืองหรือ นั่นเป็นของแน่ที่เราอาจทำได้ แต่ฉันไม่ยินยอมเลยแม้แต่ชั่วขณะเดียว เพราะเจ้านายในกรุงเทพฯอาจจะถูกฆ่าหมด ฉันรู้สึกว่าฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์ที่เปื้อนโลหิตไม่ได้... สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯแนะนำตลอดเวลาให้ยินยอมกลับกรุงเทพฯ และ ช่วยคณะราษฎรจัดตั้งการปกครองโดยมีกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นของที่ฉันเคยอยากจะทำมานานแล้ว แต่ว่าฉันเสียขวัญ

ในที่สุดมีทางจะทำได้ 2 ทางคือ จะหนี หรือ จะกลับกรุงเทพฯ ฉันยอมรับว่าฉันตัดสินใจไม่ได้ทันทีว่าจะทำอย่างไรดี เราเพิ่งได้ยินคำแถลงการณ์ทางวิทยุกระจายเสียงอันรุนแรง ดูราวกับจะไปทางบอลเชวิค ถ้าเช่นนั้นการที่จะกลับไปให้เขาตัดหัวดูออกจะไร้ประโยชน์ เป็นการเสียสละอันไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลย แต่นั่นแหละ คำแถลงการณ์นั้นอาจเป็นถ้อยคำของผู้ที่ออกจะคิดสั้นและรุนแรงรวดเร็วจัดคน หนึ่ง และไม่ใช่นโยบายจริงของคณะ ฉันเลยตกลงใจเสี่ยงโดยให้ผู้หญิงเขาเลือก ทั้งหญิง (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) และหญิงอาภา (พระมารดา) ตกลงเลือกให้กลับอย่างแน่วแน่และฉันเห็นว่าทั้งสองควรจะได้รับเกียรติอย่าง เต็มที่ ในการตกลงใจอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเช่นนั้น เพราะในเวลานั้นเราอาจจะกลับไปสู่ความตายก็ได้ ผู้หญิงเขาเลือกเอาความตายดีกว่าการเสียศักดิ์ เท่านั้นก็พอแล้วสำหรับฉัน

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก่เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 หลังจากนั้น ทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2477 ขณะทรงประทับอยู่ที่สหราชอาณาจักร หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงปีเศษ โดยทรงมีเหตุผลในการตัดสินพระทัยตามความในพระราชหัตถเลขา ดังนี้ [3]

บ้านโนล (Knowle) แครนลี (Cranleigh surrey) ประเทศอังกฤษ

เมื่อพระยาพหลพลพยุหะเสนากับพวกได้ทำการยึดอำนาจการปกครองโดยใช้กำลังทหาร ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้ว ได้ มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้ รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้น เพราะเข้าใจว่าพระยาพหลฯและพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญตามแบบอย่างประเทศทั้งหลาย ซึ่งใช้การปกครองตามหลักนั้น เพื่อให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิที่จะออกเสียง ในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่างๆอันจะเปนผลได้เสียแก่ประชาชน ทั่วไป ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนั้นอยู่แล้วและกำลังดำริจะจัดการ เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เปนไปตามรูปนั้น โดยมิให้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง เมื่อมามีเหตุรุนแรงขึ้นเสียแล้ว และเมื่อผู้ก่อการรุนแรงนั้นอ้างว่ามีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้น เท่านั้น ก็เปนอันไม่ผิดกับหลักการที่ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นควรโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ

ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือในการที่จะรักษาความสงบราบคาบ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนั้นเปนไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเปนได้ แต่ความพยายามของข้าพเจ้าไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่ และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง

และจากรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ จะพึงเห็นได้ว่า อำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่างๆนั้น จะตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการและผู้ที่สนับสนุนเปนพวกพ้องเท่านั้น มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนซึ่งราษฎรเปนผู้เลือก เช่น ในฉบับชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการ จะไม่ให้เปนผู้แทนราษฎรเลย ฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามคำร้องขอของข้าพเจ้า แต่ก็ยังให้มีสมาชิกซึ่งตนเลือกเองเข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่ง๑

การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก 2 ประเภท ก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วไป ไม่จำกัดว่าเปนพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เปนพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ

นอกจากนี้คณะผู้ก่อการบางส่วนได้มี ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงการ เศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง จึงเกิดแตกร้าวกันขึ้นเองในคณะผู้ก่อการและพวกพ้อง จนต้องมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราโดยคำแนะนำของคณะรัฐบาลซึ่ง ถือตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น ทั้งนี้เปนเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง ต่อมาพระยาพหลฯกับพวกก็กลับเข้าทำการยึดอำนาจโดยกำลังทหารเปนครั้งที่ 2 และแต่นั้นมาความหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆเปนไปโดยราบรื่นก็ลดน้อยลง เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการ มิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริง และประชาชนไม่ได้โอกาศออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่างๆ จึงเปนเหตุให้มีการกบฏขึ้นถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย เมื่อข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเสียให้เข้ารูป ประชาธิปตัยอันแท้จริงเพื่อให้เปนที่พอใจแก่ประชาชน คณะรัฐบาลและพวกซึ่งกุมอำนาจอยู่บริบูรณ์ในเวลานี้ ก็ไม่ยินยอม ข้าพเจ้าได้ร้องขอให้ราษฎรได้มีโอกาศออกเสียง ก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการและนโยบายอันสำคัญมีผลได้เสียแก่พลเมือง รัฐบาลก็ไม่ยินยอม และแม้แต่การประชุมในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องคำร้องขอต่างๆของข้าพเจ้า สมาชิกก็มิได้มีโอกาสพิจารณาเรื่องโดยถ่องแท้และละเอียดลออเสียก่อน เพราะถูกเร่งรัดให้ลงมติอย่างรีบด่วนภายในวาระประชุมเดียว

นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายใช้วิธี ปราบปรามบุคคล ซึ่งถูกหาว่าทำความผิดทางการเมืองในทางที่ผิดยุติธรรมของโลก คือไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีในศาล มีการชำระโดยคณะกรรมการอย่างลับไม่เปิดเผย ซึ่งเปนวิธีการที่ข้าพเจ้าไม่เคยใช้ ในเมื่ออำนาจอันสิทธิขาดยังอยู่ในมือของข้าพเจ้าเอง และข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เลิกใช้วิธีนี้ รัฐบาลก็ไม่ยอม.

ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอัน เปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และ โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริง ไม่เปนผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เปนอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เปนต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวงซึ่งเปนของ ข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เปนพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเปนของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์

ข้าพเจ้าไม่มีประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใดให้เปนผู้รับราชสมบัติสืบ สันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิจะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศเพื่อ ประโยชน์ของข้าพเจ้า ถ้าหากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่ามิได้เปนไปโดยความยินยอมเห็นชอบหรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้ามีความเสียใจเปนอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ ตามความตั้งใจและความหวังซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐานขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขสบาย.

ประชาธิปก.ปร.

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เวลา 13 นาฬิกา 45 นาที

................................................

การแบ่งกลุ่มรัฐธรรมนูญ

หากแบ่งกลุ่มรัฐธรรมนูญ ด้วยการวัดที่ระดับการเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติ จะสามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่มดังนี้

  1. สภาที่มาจากการเลือกตั้ง: สภานิติบัญญัติในกลุ่มนี้จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด. ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (ซึ่งสภาผู้แทนมีการเลือกตั้งโดยตรง ส่วนสภาสูงซึ่งเรียกว่าพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม) และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ที่ทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรง)
  2. สภาที่เกิดมาจากการสรรหา: สภานิติบัญญัติที่เกิดมาจากการสรรหาทั้งหมดหรือบางส่วน โดยที่สมาชิกผู้มาจากการสรรหานั้นมีอำนาจมากพอในการจำกัดอำนาจสมาชิกที่มีมาจาการเลือกตั้งได้ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
  3. สภาที่เกิดมาจากการแต่งตั้ง: ฝ่ายบริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือเกือบจะเป็นเช่นนั้น ไดเแก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549

....................................

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลก

ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1215 ขุนนางและพระราชาคณะจำนวน 25 คน ได้บังคับให้พระเจ้าจอห์นลงนามในเอกสารที่เรียกว่า "มหากฎบัตร" (The Great Charter, Magna Carta) ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางและพระสงฆ์ โดยในมหากฎบัตรได้กำหนด ถึงการจัดองค์กรและการบริหารอำนาจของสภาสูง (Magnum Concillium) และกำหนดว่าพระมหากษัตริย์จะเก็บภาษีบางอย่างตามที่กำหนดไว้โดยมิได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงมิได้ จะจับกุมคุมขังบุคคลได้ก็ต่อเมื่อ มีคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย มหากฎบัตรนี้ นักกฎหมายบางท่านเห็นว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก

รัฐธรรมนูญในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ในภาษาของประเทศทั้งสอง คำว่ารัฐธรรมนูญต่างใช้คำว่า Constitution ซึ่งแปลว่า การสถาปนา หรือการจัดตั้ง ซึ่งหมายถึงการสถาปนาหรือจัดตั้งรัฐนั่นเอง โดยทั้งสองประเทศมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ประเทศอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร

ดึงข้อมูลจาก th.wikipedia.org/wiki

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก