ชาวดิน ออนเน็ต

***อนิจา วาสนา ไพร่***

เรียกร้องเถอะ ร่ำหา กันให้ตาย
เคยบ้างไหม เคยได้ สิ่งที่หวัง
กราบแทบเท้า ติดดิน ร้องเสียงดัง
มีสักครั้ง บ้างไหม ใครเมตตา

สิ่งที่ขอ รอมา กี่ชาติแล้ว
ไร้วี่แวว สิทธิ ที่ใฝ่หา
เป็นแค่ไพร่ เขาชี้ เป็นอีกา
อย่าได้มา ร่วมหงส์ ดงผู้ดี
ร้องขอมา กี่ปี กี่ชาติแล้ว
ก็ไม่แคล้ว โดนด่า ฆ่าทุบตี
จากปู่ย่า มาถึง ทุกวันนี้
ถูกย่ำยี ไล่บี้ ให้จำนน
ตายแล้วสิบ เกิดใหม่ ได้เป็นแสน
แต่ขาแขน ถูกตรึง ด้วยเล่ห์กล
แล้วเมื่อไหร่ สิ่งนี้ จะหลุดพ้น
รับกฏโจร กฏหมาย ไร้ปราณี
อนิจา วาสนา ชะตาไพร่
ถูกใส่ร้าย กล่าวหา ว่าบัดสี
ทั้งหมอบกราบ ก้มไหว้ อย่างภักดี
แพ้วจี คนโฉด โป้ปดลวง
คงถึงครา แล้วหนา บรรดาไพร่
แม้ร่ำไห้ ร้องขอ ก็ช้ำทรวง
เขาไม่แล พวกเรา ไพร่ทั้งปวง
ต้องวัดดวง ทวงค่า ความเป็นคน


โดย ยรรยง ลูกชาวดิน

7 / มีนาคม / 2553
........


วันเสาร์, พฤศจิกายน 29, 2551

นายกฯพร้อมเจรจาจำลอง ป้องนปช.ไม่เคยทำผิดกฏหมาย

ข่าวโดย.dailyworldtoday.

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพร้อมเจรจากับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ต้องไม่มีเงื่อนไขยุบสภาหรือลาออก พร้อมเรียกร้องประชาชนร่วมต่อต้านคนร้ายที่ยึดสนามบินจนอาจจะส่งผลให้ประเทศต้องถูกโดดเดี่ยวในอนาคต ส่วนการที่กลุ่ม นปช. จะชุมนุมใหญ่พรุ่งนี้นั้น นายกรัฐมนตรีเห็นว่า กลุ่มนปช. ไม่เคยทำผิดกฎหมาย เมื่อชุมนุมเสร็จแล้วก็กลับบ้าน แต่ย้ำว่าไม่สนับสนุนการปะทะกัน


ผบ.ทบ.ปล่อยเกียร์ว่าง..?สร้างสถานการณ์ ปล้นประชาธิปไตย!

“เราไม่ได้กดดันรัฐบาล แต่เสนอแนะทางออกของประเทศที่จะแก้ปัญหาสถานการณ์ให้ทุกคนสบายใจ ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหาและต่อสู้วิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตร่วมกัน ไม่ใช่เป็นการกดดัน เป็นการเรียนเสนอแนะ และพูดหลายมิติว่ารัฐบาลน่าจะให้โอกาสประชาชนตัดสินใจอนาคตในการจัดการเลือกตั้งใหม่”

คำแถลงของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วมทหารกับตำรวจ (คตร.) เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งเชิญภาคเอกชน อาทิ สภาการอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการสภาธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุม เพื่อปรึกษาหารือและร่วมแสดงความคิดเห็นหาทางออกของวิกฤตการเมืองที่กำลังลุกลามบานปลายกระทบกับภาพรวมของประเทศ

แม้ พล.อ.อนุพงษ์ยืนยันว่าไม่ใช่การปฏิวัติเงียบ เพราะจะอยู่บนกรอบของระบอบประชาธิปไตยทุกอย่าง และมีกฎหมายรัฐธรรมนูญบังคับใช้ เพียงแต่เป็นการเสนอให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจยุบสภาด้วยตัวเอง และให้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนตัดสิน ซึ่งเป็นภาพที่ต่างชาติต้องการเป็นอย่างยิ่ง

แต่ก่อนที่นายสมชายจะออกมาแถลงจุดยืนของรัฐบาลนั้น แกนนำพันธมิตรฯก็ชิงออกมาประกาศจุดยืนของตนว่า ไม่ยอมออกจากสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิโดยเด็ดขาดจนกว่ารัฐบาลจะลาออก เพื่อบีบรัฐบาลให้ไม่มีทางเลือก อย่างที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กล่าวว่า ทหารไม่ได้บีบรัฐบาลแต่ทำเพื่อบ้านเมือง พันธมิตรฯก็ทำตามวิถีทางของพันธมิตรฯ ซึ่งฝ่ายพันธมิตรฯมีทหารมาร่วมชุมนุมด้วยจำนวนมาก แต่มานอกเครื่องแบบ ไม่ได้ประกาศตัว และมีหลายชั้นยศ


“สมชาย” ไม่ลาออก-ไม่ยุบสภา

คำตอบของนายสมชายที่แถลงสดผ่านสถานีโทรทัศน์ NBT ที่จังหวัดเชียงใหม่คือ จะไม่ลาออกและยุบสภา เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลจะทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างถึงที่สุด เนื่องจากรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง พร้อมเรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรฯชุมนุมโดยสงบภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และให้คืนพื้นที่สถานที่ราชการ ทั้งทำเนียบรัฐบาล สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ

ขณะที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ระบุว่า สิ่งที่ พล.อ.อนุพงษ์เสนอ 4 แนวทางให้กับรัฐบาล รวมถึงการยุบสภานั้น ถือเป็นมติของ คตร. ไม่ใช่ความคิดของผู้บัญชาการทหารบกเพียงผู้เดียว เพราะเห็นว่าเป็นการนำเสนอแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ทั้งยอมรับว่าในที่ประชุมมีผู้เสนอให้ทางทหารทำปฏิวัติรัฐประหารจริง แต่ผู้บัญชาการทหารบกยืนยันว่าไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น และมิหนำซ้ำยังจะทำให้สถานการณ์ในบ้านเมืองรุนแรงมากขึ้น

“ท่านทำในฐานะที่ท่านได้รับการแต่งตั้งจากท่านนายกฯมาให้เป็นประธาน คตร. เพราะฉะนั้นท่านทำให้หน้าที่ของท่านด้วยการเสนอแนวทางที่ดีที่สุด หากนำเสนอแล้วรัฐบาลไม่เห็นชอบด้วย วิธีการปฏิบัติก็ต้องจัดประชุม คตร. ใหม่ เพื่อชี้แจงให้ทุกคนได้ทราบว่า รัฐบาลไม่เห็นชอบด้วยกับข้อเสนอ โดยทางกรมยุทธการทหารบกในฐานะเลขาธิการ คตร. ได้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอต่อสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่จากการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีปฏิเสธข้อเสนอนี้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ไปรัฐบาลต้องรับผิดชอบเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น” โฆษกกองทัพบกกล่าว


ปฏิวัติผ่านสื่อ-นักวิชาการ

ทั้งการแถลงของ พล.อ.อนุพงษ์และ พ.อ.สรรเสริญ ระบุชัดว่า นับแต่นี้ไปให้รัฐบาลรับผิดชอบเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเอง ทั้งที่กองทัพต้องทำงานตามคำสั่งรัฐบาล จึงไม่แปลกที่จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแง่บวกและลบ แต่ส่วนใหญ่เห็นคล้ายกันว่าเป็นการปฏิวัติหน้าจอโทรทัศน์ที่ยากจะเป็นไปได้ อย่างนายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าเหมือนการรัฐประหารเงียบ และตั้งคำถามมติ คตร. ที่กดดันให้นายกรัฐมนตรียุบสภา แต่กลับไม่มีหลักประกันและไม่พูดถึงการจะหยุดเคลื่อนไหวของฝ่ายพันธมิตรฯที่ข้ามเส้นสังคมอารยะและทำลายสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง ซึ่งกองทัพควรจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อนำสังคมกลับสู่หลักกฎหมายและหลักนิติธรรมให้ได้ แต่ไม่ใช่การตอบโต้ด้วยความรุนแรง

“ในส่วนบุคคลและองค์กรที่เคยมีบทบาทให้ท้ายพันธมิตรฯต้องลุกขึ้นมาวิจารณ์ว่าพันธมิตรฯข้ามเส้นเกินไปแล้ว เช่น นพ.ประเวศ วะสี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรออกมาพูดให้ชัดเจนว่าสิ่งที่พันธมิตรฯทำนั้นยอมรับได้หรือไม่ในสังคมอารยะ ดังนั้น นอกจากมาตรการทางกฎหมายแล้ว การใช้พลังทางสังคมในการกดดันการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯก็เป็นส่วนสำคัญ ซึ่งทั้งหมดต้องกระทำโดยสันติ”


อารยะขัดขืนบีบรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การประชุม คตร. ถูกวิจารณ์อย่างมากว่า พล.อ.อนุพงษ์อาจวางแผนเพื่อปูทางใช้อำนาจ หรือไม่ก็พยายาม “ลอยตัว” หนีความรับผิดชอบที่ปล่อยให้พันธมิตรฯยึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งที่ทั่วโลกถือเป็นการก่อการร้ายที่ร้ายแรงและเป็นภัยอย่างยิ่งกับความมั่นคงของประเทศ แม้จะอ้างเป็นมติของที่ประชุมที่มาจากผู้นำหรือตัวแทนระดับชาติทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นไปตามกรอบประชาธิปไตยนั้น

มีการตั้งคำถามว่าแล้วทำไมไม่ให้รัฐสภาทำหน้าที่ เพราะรัฐสภาสามารถเรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อขอความเห็นจากที่ประชุมได้ แทนที่จะใช้ความเห็นจากคนไม่กี่คนที่ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน

ดังนั้น มติ คตร. จึงไม่ต่างอะไรกับมติของสภากำมะลอที่ไม่มีความหมายอะไร โดยพยายามดึงมวลชนและสื่อมาเป็นแนวร่วมการปฏิวัติเงียบครั้งนี้ด้วย เพราะมีแต่มาตรการที่จะใช้กดดันรัฐบาล อย่างที่เสนอให้ข้าราชการไม่ทำตามคำสั่งของรัฐบาลและรัฐมนตรีในลักษณะ “อารยะขัดขืน” แต่กลับไม่มีมาตรการหยุดการก่อการร้ายของฝ่ายพันธมิตรฯ นอกจากให้สังคมอ้อนวอนพันธมิตรฯ

โดยเฉพาะผู้ที่ร่วมประชุม คตร. มีจำนวนหนึ่งเคยเห็นดีเห็นชอบและเป็นตัวจักรสำคัญให้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติทั้งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาร่างรัฐธรรมนูญ อย่างนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ และยังเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากกับมติของ คตร.

“หากรัฐบาลไม่เสนอแนวทางอื่นในการดำเนินการ ไม่มีแนวทางจัดการปัญหานี้ และไม่ดำเนินการต่อข้อเรียกร้องนี้ เราจะพูดกันถึงคำว่าปฏิเสธความชอบธรรมในการบริหารราชการของรัฐบาลต่อไป หากยังปล่อยให้สถานการณ์ร้ายแรงคุกคามประเทศชาติอย่างนี้ ส่วนหลังรัฐบาลดำเนินการนั้นแล้ว หากพันธมิตรฯไม่ยอมดำเนินการ เราตกลงกันว่าความชอบธรรมในทางสังคมจะเป็นคำถามที่พันธมิตรฯต้องตอบ และพวกเราในที่นี้หลายคนต้องช่วยถามพันธมิตรฯ”


ม้วนเดียวเจ๊งทั้งประเทศ

การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯที่ประกาศอีกครั้งว่าเป็นสงครามครั้งสุดท้าย จะไม่ยืดเยื้อและม้วนเดียวจบนั้น แม้จะยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองขณะนี้ไม่เพียงความน่าเชื่อถือของประเทศไทยต่อนานาชาติจะกู่ไม่กลับแล้ว ยังทำลายเศรษฐกิจนับแสนล้านบาท เพราะการยึดสุวรรณภูมิไม่เพียงนานาชาติจะประณามว่าเป็นการก่อการร้ายที่ยอมรับไม่ได้แล้ว ยังเป็นการปิดประตูเศรษฐกิจของประเทศซึ่งย่ำแย่อยู่แล้วให้ยิ่งทรุดหนักและต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะกู้กลับคืนได้

เพราะไม่เพียงทุกสายการบินจะหยุดการบินทั้งเข้าและออกประเทศไทยที่ทำให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และการบินไทยต้องสูญเสียรายได้หลายร้อยล้านบาทต่อวัน การขนส่งสินค้าหรือแอร์คาร์โก้ก็คาดว่าจะเสียหายประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อวัน แล้วยังส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและการส่งออกนับแสนล้าน รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบทันทีในขณะนี้ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยระบุว่าเฉพาะช่วงไฮซีซั่นนี้ประเทศไทยจะเสียรายได้ไปกว่าแสนล้านบาท ทั้งอาจสูญเสียตลาดให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกับการสูญเสียการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคนี้

สงครามครั้งสุดท้ายของพันธมิตรฯจึงเป็นของจริง เพราะกำลังชี้อนาคตของบ้านเมืองว่าจะออกไปในทิศทางใด จะมีคนตายมากน้อยแค่ไหน โดยเศรษฐกิจของประเทศนั้น “เจ๊ง” ไปเรียบร้อยแล้ว


2 ทางสุดท้าย “นิติรัฐ-รัฐประหาร”

จึงไม่แปลกที่จะมีการเรียกร้องให้กองทัพออกมาใช้กำลังหรือรัฐประหาร หากรัฐบาลมีสภาพเป็นได้แค่ “เป็ดง่อย” หรือรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือ พ.ร.ก.การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้กองทัพและฝ่ายความมั่นคงออกมาใช้กำลังควบคุมและยุติสถานการณ์อย่างเด็ดขาด โดยให้ทุกฝ่ายต้องอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ โดยไม่ต้องวิตกว่าจะเกิดการต่อต้านและการนองเลือดอย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นวิกฤตก็ไม่ยุติ และยิ่งทำให้บ้านเมืองหายนะล่มจมยิ่งขึ้น

อย่างที่นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกร้องให้นายสมชายในฐานะผู้อำนวยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.กอ.รมน.) ต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ซึ่งเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นด้วย เพราะเป็นการใช้อำนาจเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งบีบให้ฝ่ายพันธมิตรฯต้องเจรจา

เช่นเดียวกับนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนพฤษภาทมิฬ 35 ประณามพันธมิตรฯที่ยึดสนามบินสุวรรณภูมิว่า ไม่มีประเทศใดปิดสนามบินจนเกิดความเสียหายเช่นนี้


บีบรัฐบาล-โอ๋พันธมิตรฯ

การออกมาแถลงของ พล.อ.อนุพงษ์ร่วมกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักวิชาการ และนักธุรกิจ ที่ดูเหมือนเป็นมติจากบุคคลต่างๆในสังคมที่น่าเชื่อถือนั้น แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าไม่ได้ประณามฝ่ายพันธมิตรฯเลย ทั้งๆที่เป็นฝ่ายที่กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองมากมายมาโดยตลอด รวมทั้งการสร้างความเดือดร้อนอย่างมากกับประชาชน และสร้างหายนะต่อบ้านเมืองที่ยังประเมินค่าไม่ได้

ที่สำคัญหลังจาก พล.อ.อนุพงษ์แถลง ฝ่ายพันธมิตรฯก็ออกมาปฏิเสธไม่ยอมยุติการเคลื่อนไหวทันที ขณะที่นายสมชายแถลงในช่วงตอนดึกวันเดียวกัน ยืนยันว่าเมื่อรัฐบาลมาตามแนวทางประชาธิปไตย จะต้องแก้ปัญหาตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น จึงไม่ยุบสภาและไม่ลาออก

อย่างที่นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ตอกกลับ พล.อ.อนุพงษ์ว่า ขอถามผู้บัญชาการทหารบกว่าสั่งพันธมิตรฯให้หยุดชุมนุมได้หรือไม่ ไม่ใช่มาเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกหรือยุบสภา ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาเลย


“เกียร์ว่าง” ปูทางรัฐประหาร

ขณะที่ข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆของไทยเน้นไปที่ข่าวรัฐบาลจะยุบสภาหรือลาออกหรือไม่ มากกว่าจะเสนอข่าวไปตามข้อเท็จจริงหรือประณามพันธมิตรฯว่ากระทำผิดกฎหมายและสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองอย่างไร

แม้แต่ข่าวศาลแพ่งที่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้พันธมิตรฯเคลื่อนออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทันทียังเป็นแค่ข่าวเล็กๆ ทั้งที่เป็นการตอกย้ำถึงพฤติกรรมของฝ่ายพันธมิตรฯที่ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเท่ากับสื่อเองเห็นชอบหรือสนับสนุนการกระทำของฝ่ายพันธมิตรฯว่าใช้อำนาจโดยชอบธรรม ทั้งที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและขัดขืนกระบวนการยุติธรรม เป็น “อนาธิปไตย” ไม่ใช่ “อารยะขัดขืน” อย่างที่กล่าวอ้าง

โดยเฉพาะการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองถือเป็นการกระทำเยี่ยงการก่อการร้าย ซึ่งนานาชาติถือเป็นความผิดอย่างร้ายแรง แต่กองทัพเองไม่ได้ทำหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศ ทั้งที่มีการร้องขอให้ช่วย และเห็นชัดเจนว่ากำลังจะเกิดความวิบัติอย่างใหญ่หลวงกับบ้านเมือง แต่กลับทำเหมือน “ใส่เกียร์ว่าง” อ้างไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปแก้ปัญหา ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศชาติโดยตรง แต่กลับตั้งสภากำมะลอมีมติเรียกร้องให้ยุบสภา แทนที่จะประณามฝ่ายพันธมิตรฯและมีมาตรการชัดเจนและเด็ดขาดที่จะหยุดการก่อการร้ายของพันธมิตรฯที่ทำลายความมั่นคงและเศรษฐกิจของชาติจนย่อยยับ

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เปิดเผยว่า นายชวรัตน์ได้มอบหมายให้ไปประชุมและหาทางออกกับ คตร. ที่มี พล.อ.อนุพงษ์เป็นประธาน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเสนอความเห็นต่อที่ประชุม และจะนำผลการประชุมไปเป็นแนวทางปฏิบัติของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขอยืนยันว่าตำรวจไม่ได้นิ่งดูดายกับสถานการณ์ แม้กระทั่งการบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะต้องรอคำสั่งจาก คตร. ไม่เช่นนั้นจะขัดต่อระเบียบปฏิบัติ
สื่อต่างชาติเกือบทุกสำนักจึงตั้งคำถามและสงสัยในท่าทีของกองทัพว่ามีแผนหรือมีคำสั่งจาก “มือที่มองเห็น” หรือ “มือที่มองไม่เห็น” เพื่อปูทางหรือเดินไปสู่การรัฐประหารหรือไม่ โดยนำมติของสภากำมะลอมาประทับตราอ้างความชอบธรรม และฉวยโอกาสนำความอึดอัดของประชาชนส่วนใหญ่ที่เบื่อหน่ายกับสถานการณ์ที่ปั่นป่วนขณะนี้มาเป็นข้ออ้าง


“เด็กเส้น” ใหญ่คับฟ้าคับแผ่นดิน

การปล่อยให้พันธมิตรฯยึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิจึงต้องพุ่งเป้าไปที่กองทัพโดยตรงว่าทำไมจึงไม่ทำการป้องกันและขัดขวาง ทั้งที่รู้ล่วงหน้าและมีเวลามากพอที่จะป้องกันและขัดขวาง เพราะทหารไม่ได้อยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไปออกเหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีคำสั่งจากรัฐบาลไม่ให้ใช้ความรุนแรงใดๆจนพันธมิตรฯเหมือน “เด็กเส้น” ที่ได้รับการคุ้มครองพิเศษ

ขณะเดียวกันก็มีการวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่า การออกมาเรียกประชุมและแถลงของ พล.อ.อนุพงษ์ไม่ต่างอะไรกับการปักธงหรือปูทางเพื่อการรัฐประหาร แต่ครั้งนี้ผู้นำกองทัพและผู้อยู่เบื้องหลังตระหนักดีว่าการทำรัฐประหารนั้นไม่ยาก แต่การทำให้สาธารณชนยอมรับว่าเป็นความชอบธรรมและความจำเป็นจึงต้องมีการปูทางอย่างแนบเนียน แม้หลายฝ้ายเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้สุกงอมเพียงพอแล้วก็ตาม

แต่ฝ่ายที่ต้องการทำรัฐประหารต้องชะลอไว้จนกว่าจะมั่นใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงข้ออ้างความชอบธรรมเท่านั้น แต่กลับวิตกประชาชนและกลุ่มคนเสื้อแดงที่จะออกมาต่อต้าน ซึ่งเชื่อว่าจะมีจำนวนนับแสนนับล้านคน ไม่ใช่ไม่กี่หมื่นอย่างสงครามครั้งสุดท้ายของฝ่ายพันธมิตรฯขณะนี้

การใส่เกียร์ว่างและออกมาระดมความเห็นจากฝ่ายต่างๆของกองทัพจึงเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง รวมทั้งเป็นการแย่งชิงมวลชนและสื่อมวลชนให้ออกสนับสนุนให้มากที่สุด


ปล้นประชาธิปไตย!

ขณะที่การออกมาอาละวาดป่วนเมืองของพันธมิตรฯ โดยเฉพาะการยึดสนามบินและเพิกเฉยต่อคำสั่งของศาลแพ่งให้เคลื่อนออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งการก่อความวุ่นวายต่างๆนั้น เป็นการฉายหนังซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ตอกย้ำถึงฐานะของพันธมิตรฯว่าไม่ใช่ “เด็กเส้น” ธรรมดา แต่เป็น “เด็กเส้น” ที่ “ใหญ่คับฟ้าคับแผ่นดิน” จริงๆ

ผู้นำกองทัพจึงปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะผู้ดูแลความมั่นคงของชาติไม่ได้ที่ปล่อยให้สถานการณ์บ้านเมืองบานปลายจนถึงขั้นยึดสนามบินและบ้านเมืองเป็นอนาธิปไตย ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการปล่อยให้ผู้ก่อการร้ายยึดประเทศโดยไม่ดำเนินการใดๆเลยนั่นเอง ถือเป็นความผิดร้ายแรงซึ่งไม่เพียงการปลดออกจากตำแหน่งเท่านั้น แต่ยังพ่วงโทษตามกฎหมายของบ้านเมืองอีกด้วย

วันนี้จึงต้องขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ว่าจะยอมเป็นควายที่ถูกเจาะจมูกลากจูงเหมือนในอดีต หรือจะลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเมืองและประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนไม่ให้กลับสู่วงจรอุบาทว์และวังวนนรกอีกต่อไป

จะด้วยเป็นการใช้อำนาจนอกระบบของฝ่ายพันธมิตรฯ หรือขบวนการนอกระบบที่กำลังรวมหัวกับผู้นำกองทัพบางคนให้ทำการรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ว่าจะอ้างความชอบธรรมใดๆก็ตาม มันก็คือการปล้นประชาธิปไตยเราดีๆนี่เอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก