ชาวดิน ออนเน็ต

***อนิจา วาสนา ไพร่***

เรียกร้องเถอะ ร่ำหา กันให้ตาย
เคยบ้างไหม เคยได้ สิ่งที่หวัง
กราบแทบเท้า ติดดิน ร้องเสียงดัง
มีสักครั้ง บ้างไหม ใครเมตตา

สิ่งที่ขอ รอมา กี่ชาติแล้ว
ไร้วี่แวว สิทธิ ที่ใฝ่หา
เป็นแค่ไพร่ เขาชี้ เป็นอีกา
อย่าได้มา ร่วมหงส์ ดงผู้ดี
ร้องขอมา กี่ปี กี่ชาติแล้ว
ก็ไม่แคล้ว โดนด่า ฆ่าทุบตี
จากปู่ย่า มาถึง ทุกวันนี้
ถูกย่ำยี ไล่บี้ ให้จำนน
ตายแล้วสิบ เกิดใหม่ ได้เป็นแสน
แต่ขาแขน ถูกตรึง ด้วยเล่ห์กล
แล้วเมื่อไหร่ สิ่งนี้ จะหลุดพ้น
รับกฏโจร กฏหมาย ไร้ปราณี
อนิจา วาสนา ชะตาไพร่
ถูกใส่ร้าย กล่าวหา ว่าบัดสี
ทั้งหมอบกราบ ก้มไหว้ อย่างภักดี
แพ้วจี คนโฉด โป้ปดลวง
คงถึงครา แล้วหนา บรรดาไพร่
แม้ร่ำไห้ ร้องขอ ก็ช้ำทรวง
เขาไม่แล พวกเรา ไพร่ทั้งปวง
ต้องวัดดวง ทวงค่า ความเป็นคน


โดย ยรรยง ลูกชาวดิน

7 / มีนาคม / 2553
........


วันอาทิตย์, กรกฎาคม 04, 2553

สังคมไทยเป็นทุนนิยมแล้วทั้งรากฐานเศรษฐกิจและโครงสร้างชั้นบนจริงหรือ?

วิพากษ์ “บทวิพากษ์ ของคุณวรวิทย์ ต่อทัศนะของธง แจ่มศรี”

โดย อรุโณทัย
มิถุนายน 2553

คุณวรวิทย์ได้เขียนบทความตีพิมพ์ใน “วารสารเสียงชาวบ้าน” ฉบับที่ 50 ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน 2553 คอลัมน์ส่องกล้องมองสังคม วิพากษ์ ทัศนะของ ธง แจ่มศรี ที่เห็นว่า รากฐานทางเศรษฐกิจของสังคมไทยเป็นทุนนิยมแล้ว แต่โครงสร้างชั้นบนยังเป็นศักดินาอยู่ ซึ่งคุณวรวิทย์เห็นว่า สังคมไทยในปัจจุบันเป็นสังคมทุนนิยมแล้วทั้งรากฐานทางเศรษฐกิจและโครงสร้างชั้นบน คือการปกครองเป็นประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนแล้ว แต่ยังมีส่วนที่ไม่สมบูรณ์และไม่สมประกอบ

อะไรคือรากฐานเศรษฐกิจและโครงสร้างชั้นบน รากฐานเศรษฐกิจ ตามคำจำกัดความหมายถึง ผลรวมของความสัมพันธ์ทางการผลิตในขั้นการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ที่แน่นอนของสังคมหนึ่ง ๆ (บ้างเรียกว่าแบบวิธีการผลิต เช่น ในสังคมศักดินา แบบวิธีการผลิตคือเศรษฐกิจธรรมชาติผลิตเพื่อกินเองใช้เอง จะเรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็ย่อมได้ สังคมทุนนิยม แบบวิธีการผลิตคือ เศรษฐกิจสินค้า ผลิตเพื่อขาย เพื่อการตลาด ไม่ใช่ผลิตเพื่อกินเองใช้เอง เป็นต้น) ส่วนโครงสร้างชั้นบนหมายถึง ทัศนะทางการเมือง กฎหมาย ศีลธรรม ปรัชญา ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา รูปการจิตสำนึก เป็นต้น

การพิจารณาว่าสังคมหนึ่งๆ อยู่ในขั้นการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ขั้นใดนั้นก็พิจารณาได้จากรากฐานทางเศรษฐกิจและโครงสร้างชั้นบนดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

สำหรับสังคมไทยอยู่ในขั้นการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ขั้นใดนั้น มีการถกเถียงกันมายาวนาน จนถึงปัจจุบันก็ยังเถียงกันอยู่ คุณ ธง เห็นว่า สังคมไทยกล่าวจากรากฐานทางเศรษฐกิจเป็นทุนนิยมแล้ว แต่โครงสร้างชั้นบนยังไม่ใช่ คุณวรวิทย์เห็นว่า สังคมไทยเป็นทุนนิยมแล้วทั้งรากฐานทางเศรษฐกิจและโครงสร้างชั้นบน การเมืองการปกครองเป็นประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนแล้วตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองที่นำโดย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา การปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนก็ได้สำเร็จลุล่วงแล้วโดยพื้นฐาน

รากฐานเศรษฐกิจของสังคมไทย ทั้งคุณธง และคุณวรวิทย์ไม่ได้เห็นต่าง และผมก็เห็นด้วยกับทั้ง 2 ท่านคือ ถ้าวิเคราะห์ตามหลักที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็เห็นได้ชัดว่ารากฐานทางเศรษฐกิจของสังคมไทยโดยพื้นฐานแล้วเป็นแบบวิธีการผลิตของทุนนิยม คือเป็นเศรษฐกิจสินค้า ผลิตเพื่อขายเพื่อการตลาด ไม่ใช่ผลิตเพื่อกินเองใช้เอง ส่วนรูปแบบการขูดรีดนั้นก็เป็นการขูดรีดในรูปมูลค่าส่วนเกินโดยพื้นฐาน ไม่ใช่การขูดรีดในรูปของค่าเช่าดอกเบี้ย ซึ่งเป็นรูปการขูดรีดหลักของสังคมศักดินา แต่ว่า การขูดรีดแบบศักดินาซ่อนรูปมีอยู่ในสังคมไทยหรือไม่ อยากให้คุณวรวิทย์ไปศึกาษาค้นคว้าให้มากกว่านี้ ก็จะพบความจริงที่น่าตกใจ

ประเด็นที่เห็นต่างคือโครงสร้างชั้นบน ทัศนะทางการเมือง การปกครอง กฎหมาย ศีลธรรม ปรัชญา ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา รูปการจิตสำนึก คุณวรวิทย์เห็นว่า การเมืองการปกครองเป็นประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนแล้วโดยพื้นฐาน แม้จะยังมีส่วนที่ไม่สมบูรณ์และไม่สมประกอบก็ตาม และวิพากษ์ ธง แจ่มศรีว่าไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยเฉพาะตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ไม่ได้อ่านและเข้าใจเนื้อหาหลักในรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา จึงยังละเมอว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญเหนือรัฐอยู่ และวิพากษ์คุณธงว่าเอากระพี้ มาเป็นแก่น เอาแก่นมาเป็นกระพี้ เอาส่วนน้อยมาเป็นส่วนใหญ่ เอาส่วนใหญ่มาเป็นส่วนน้อย ผมว่าคุณ วรวิทย์ เองนั่นแหละไม่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอารูปแบบมาแทนเนื้อหา เอาปรากฏการณ์มาแทนธาตุแท้ ไม่ยอมทำความเข้าใจว่าลายลักษณ์อักษรบนแผ่นกระดาษกับการปฏิบัติจริงมันตรงกันหรือเปล่า คุณวรวิทย์ ยกเอาขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์มาอธิบาย ยืนยันทัศนะของตัวเอง แต่ละเลยไม่ยอมเอ่ยถึงประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่อง การศึกษาประวัติศาสตร์เพื่ออะไร เพื่อการเรียนรู้ ยึดกุมกฎการพัฒนาของมัน จะได้ช่วยกันผลักดันกงล้อประวัติศาสตร์ให้พัฒนาก้าวไปข้างหน้า ไม่ทำตัวเป็นผู้ขวางกงล้อประวัติศาสตร์ ฉุดรั้งประวัติศาสตร์ให้ถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งท้ายที่สุดถูกกงล้อประวัติศาสตร์บดขยี้จนแหลกลาน แต่ดูเหมือนว่าคุณวรวิทย์ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการศึกษาประวัติศาสตร์เลยแม้แต่น้อย กลับมีหน้ามาวิจารณ์คนอื่นว่าหลงละเมอเพ้อพก แถมยกเอาคำสอนของปรมาจารย์ปฏิวัติที่บอกว่า การศึกษาต้องใช้ท่วงทำนอง “หาสัจจะจากความเป็นจริง” ไม่ใช่ท่วงทำนองที่ยโสโอหัง “สำคัญว่าตนถูกต้องเสมอ” และ “ชอบวางตนเป็นอาจารย์ของผู้อื่น” มาสั่งสอนคุณธง ผมว่า คุณวรวิทย์ ควรเก็บคติพจน์ของปรมาจารย์บทนี้ไว้สั่งสอนตนเอง น่าจะตรงเป้ากว่า “หาสัจจะจากความเป็นจริง” คืออะไร “สัจจะ” หมายถึงสัจธรรม ซึ่งก็คือกฎเกณฑ์ คือความสัมพันธ์ภายในที่เป็นแก่นหรือธาตุแท้ของสรรพสิ่ง “ความเป็นจริง” หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทางภววิสัย ไม่ใช่จากตัวหนังสือสวยหรูที่เขียนไว้บนแผ่นกระดาษ หรือสิ่งที่คาดเดาเอาเองทางอัตวิสัย คุณวรวิทย์ พูดถึงเนื้อหาหลักของรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ หาว่าคุณธงไม่ได้อ่านไม่ได้ทำความเข้าใจ ทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับ คุณ วรวิทย์ ละเว้นไม่ยอมพูดถึง มันถูกฉีกทิ้งโดยคณะรัฐประหารแล้วเขียนใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีอำนาจตัวจริงใช่หรือไม่ใช่ คุณวรวิทย์มองข้ามประเด็นนี้ไปได้อย่างไร เนื้อหาหลักหรือหลักการ รวมทั้งบทบัญญัติที่เขียนไว้สวยหรูในรัฐธรรมนูญ ถ้าใช้ได้จริง ทุกคนได้ยึดถือปฏิบัติจริง ก็ไม่ต้องมีถึง 18 ฉบับ ฉบับที่ 1 ผู้มีอำนาจแท้จริงไม่ยึดถือปฏิบัติ จึงมีฉบับที่ 2 ที่ 3,4,5 ตามมาจนถึงฉบับที่ 18 และยังอาจมีฉบับที่ 19, 20 ไปสิ้นสุดในฉบับที่เท่าไรไม่มีใครรู้ ขึ้นอยู่กับความพอใจหรือไม่พอใจของผู้มีอำนาจแท้จริง รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับที่เข้ามาแทนที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการแก้ไขเพิ่มเติมโดยผู้มีอำนาจที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญคือรัฐสภา หากแต่เกิดจากการฉีกทิ้งโดยบุคคลคนเดียวหรือคณะบุคคลเพียงไม่กี่คน แล้วอย่างนี้คุณวรวิทย์ ยังจะเพ้อฝันและจริงจังกับข้อความสวยหรูที่เขียนไว้บนแผ่นกระดาษของรัฐธรรมนูญ จะไม่ไร้เดียงสาไปหน่อยหรือ อเมริกาตั้งแต่ประกาศเอกราชมาเป็นเวลากว่า 200 ปีมีรัฐธรรมนูญแค่ฉบับเดียว เขาเทิดไว้เหนือเกล้าถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สร้างหอเก็บไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ชื่นชม กล่าวขานว่านั่นคือกฎหมายสูงสุด เขียนรับรองการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของพวกตนไว้ ใครบังอาจฉีกทิ้ง ก็ต้องขอสู้ตายถวายชีวิต แต่ของไทยไม่ถึง 80 ปี ใช้รัฐธรรมนูญสิ้นเปลืองถึง 18 ฉบับ ประชาชนแค่ฉีกบัตรเลือกตั้งโดยไม่ตั้งใจก็ผิดกฎหมายแล้ว ถูกจับไปดำเนินคดี เสียค่าปรับ เผลอ ๆ อาจติดคุกหัวโต แต่ทหารฉีกรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไม่ผิดกฎหมาย ยังลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมได้ทุกยุคทุกสมัย แถมมีพวกสอพลอออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ ไม่ต้องรับผิดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ถามว่าเพราะอะไร เพราะว่านี่คือประเทศไทยที่เขาบอกว่า พวกอำมาตย์ไม่ว่าทำอะไรก็ถูกหมด ส่วนประชาชนคนธรรมดาหรือไพร่สามัญไม่ว่าทำอะไรก็ผิดหมด และนี่คือสัจธรรมที่ คุณวรวิทย์ แกล้งทำมองไม่เห็น คุณวรวิทย์ พูดถึง 14 ตุลา 2516 ว่าประชาธิปไตยมีการพัฒนามากขึ้น แต่ละเว้นไม่ยอมเอ่ยถึงว่าในช่วงเวลาที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยนั้น ผู้นำของขบวนการประชาธิปไตยได้สังเวยชีวิตเพื่อประชาธิปไตยไปแล้วกี่ศพ และภายหลังจากนั้นอีก 3 ปี คือในวันที่ 6 เดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2519 เกิดการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมอำมหิตที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชาธิปไตยที่พัฒนามาได้ 3 ปีถูกทำลายจนหมดสิ้นโดยฝีมือใคร ลูกเสือชาวบ้าน นวพล กระทิงแดง คนพวกนี้เป็นใคร? มาจากไหน? ใครจัดตั้ง? คุณวรวิทย์ ยกเอากรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรขับไล่ทักษิณ ที่มีคนเสนอให้ใช้ มาตรา 7 ขอนายกพระราชทานตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อยุติความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและกำลังเข้าสู่ทางตันซึ่งในหลวงท่านเห็นว่าทำไม่ได้ แสดงว่ากษัตริย์ไทยไม่มีอำนาจเหนือรัฐในเรื่องสำคัญของการปกครอง แต่คุณวรวิทย์ หลีกเลี่ยงไม่ยอมเอ่ยถึงว่าภายหลังจากนั้นไม่นานสถานการณ์ความขัดแย้งก็จบลงด้วยการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 โดยฝีมือใคร คุณวรวิทย์อาจเถียงว่า นั่นมันพวกทหารเขาทำ ไม่เกี่ยวกับสถาบันศักดินา ก็ใช่ โดยรูปแบบแล้วเป็นอย่างนั้นจริง แต่เนื้อแท้แล้วมันคืออะไร ก่อนหน้านั้นใครออกมาพูดเรื่องม้ากับจ๊อกกี้ ส่งสัญญาณให้ทหารใช้ปืนโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องเป็นถึงดอกเตอร์ แค่ชาวบ้านธรรมดาก็อ่านเกมได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เว้นแต่เขาผู้นั้นจะแกล้งโง่ ทำเป็นอ่านไม่ออก

การรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยคณะนายทหารเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่านับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นต้นมา ทำให้ประชาธิปไตยของไทยถูกคุมกำเนิด แคระแกน ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งเขียนรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่มีโอกาสเรียนรู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเองเป็นเจ้าของอำนาจ ไม่มีโอกาสเรียนรู้เพราะถูกคุมกำเนิดอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังถูกพวกชนชั้นสูงในสังคมตราหน้าว่า โง่ งก เห็นแก่เงินไม่กี่บาท เลือกเอาคนไม่ดีมาปกครองบ้านเมือง

นายทหารไทยที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยด้วยระบอบเจ้าขุนมูลนาย จารีตนิยมนั้น เป็นพวกแคปปิตอลลิสต์ หัวเสรีนิยม หรือฟิวดัลลิสต์ หัวอนุรักษ์นิยม? คำตอบก็เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ ฉะนั้น การรัฐประหารแต่ละครั้งล้วนทำให้การเมืองการปกครองถอยห่างจากระบอบประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนและเข้าใกล้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือราชาธิปไตยของชนชั้นศักดินามากขึ้นทุกที จนถึงปัจจุบัน ทุกอย่างก็เห็นกันโทนโท่ ไม่ต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติม คำว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ ตามความเข้าใจของผมก็หมายถึงว่า โดยรูปแบบแล้ว เป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อหาไม่ใช่ เปลือกนอกเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อในไม่ใช่ ทางทฤษฎีเป็นประชาธิปไตย แต่ทางปฏิบัติไม่ใช่ ทางนิตินัยเป็นประชาธิปไตย แต่พฤตินัยไม่ใช่ โดยทางทฤษฎี รูปแบบภายนอกและนัยทางกฎหมายมีรัฐธรรมนูญระบุเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงอำนาจนี้จะถูกปล้นชิงแย่งยึดกลับไปเมื่อไรก็ได้ แล้วแต่ความพอใจหรือไม่พอใจของกูผู้มีอำนาจอยู่เหนือ เพราะในประวัติศาสตร์ตลอดเวลาเกือบ 80 ปี เคยเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และนั่นคือคำตอบว่าทำไมจึงมีรัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับ เพราะฉะนั้นมันจะต่างอะไรกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีคำว่าใหม่อยู่ในวงเล็บก็เพื่อจะจำแนกให้เห็นว่าไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบดั้งเดิมที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งรูปแบบและเนื้อหา ทั้งเปลือกนอกและเนื้อใน ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติ ทั้งนิตินัยและพฤตินัย เข้าใจง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน คุณวรวิทย์ แสร้งทำเป็นไม่เข้าใจเฉไฉไปพูดว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ แน่นอน ในทางทฤษฎีไม่มีบทบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงเป็นอย่างไร คงไม่ต้องอธิบาย อำนาจเหนือรัฐ อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ อำนาจนอกระบบ มือที่มองไม่เห็น ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้ศัพท์ต่างกันแต่มีความหมายอย่างเดียวกัน คือหมายถึงอำนาจแท้จริงที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ในทุกวันนี้ แม้จะไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่านั่นคือเจ้าของอำนาจตัวจริง แต่โดยความเป็นจริง นี่แหละเจ้าของอำนาจตัวจริง

คุณวรวิทย์น่าจะไปศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475 มาถึงปัจจุบันสักหน่อยว่า ในจำนวนนายกรัฐมนตรี 27 นายนั้น มีนายกรัฐมนตรียศนายพลจากการรัฐประหารกี่นาย นายกรัฐมนตรีพลเรือนจากการเลือกตั้งของประชาชนกี่นาย แต่ละนายอยู่ในตำแหน่งกี่ปี ส่วนไหนมากกว่ากัน และรัฐบาลโดยคณะรัฐประหารกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนรัฐบาลใดอยู่ในอำนาจยาวนานกว่ากันในช่วงเวลา 80 ปี เอามาเปรียบเทียบกัน ก็จะพบความจริงที่สามารถอธิบายอะไรได้หลาย ๆ อย่าง และสามารถนำไปสู่ข้อสรุปว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้น ไม่มีอำนาจแท้จริง ไม่เคยกุมกลไกอำนาจรัฐที่สำคัญโดยเฉพาะคือกองกำลังติดอาวุธได้เลย จากนั้น เราก็สามารถได้ข้อสรูปว่าประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนได้สถาปนาในสังคมไทยแล้วจริงหรือไม่? ซึ่งคุณวรวิทย์ คงไม่ปรารถนาจะทำเช่นนั้น เพราะอยากจะเดินทางลัด ทำการปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่ตามแบบฉบับของจีนแล้วก้าวไปสู่สังคมนิยมเลยดีกว่า ง่ายดี

อะไรคือการปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่ การปฏิวัติประชาธิปไตยเป็นการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนที่โค่นล้มชนชั้นศักดินา นำเอาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนมาแทนที่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือราชาธิปไตยของชนชั้นศักดินาซึ่งเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ระหว่างศตวรรษที่ 15 ถึงศตวรรษที่ 19 การปฏิวัตินี้นำโดยชนชั้นนายทุน จึงเรียกว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน ส่วนการปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่นั้นยังคงอยู่ในบริบทของการปฏิวัติประชาธิปไตยแต่เป็นประชาธิปไตยของประชาชนซึ่งนำการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพ ทฤษฎีนี้นำเสนอโดยปรมาจารย์นักปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่เหมาเจ๋อตงและนำสู่การปฏิบัติจนประสบความสำเร็จในประเทศจีนมาแล้ว ทฤษฎีนี้เจ้าของทฤษฎีคือเหมาเจ๋อตงได้วิเคราะห์จากเงื่อนไขประวัติศาสตร์ คือยุคจักรวรรดินิยมกับการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ เห็นว่าหลังการปฏิวัติสังคมนิยมเดือน 10 ปี 1917 ของรัสเซียได้รับชัยชนะ ก็ได้เปลี่ยนแปลงทิศทางของประวัติศาสตร์ ขีดเส้นแบ่งยุคแบ่งสมัยของโลกทั้งโลก ชี้ว่า “ในยุคดังกล่าว ถ้าหากเกิดการปฏิวัติในประเทศเมืองขึ้นกึ่งเมืองขึ้นที่คัดค้านจักรวรรดินิยม ซึ่งก็คือคัดค้านชนชั้นนายทุนโลก คัดค้านทุนนิยมโลก การปฏิวัตินั้นก็ไม่จัดอยู่ในขอบข่ายของการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนโลกเก่าอีกต่อไป หากแต่จัดอยู่ในขอบข่ายใหม่ ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติโลกของชนชั้นนายทุน และทุนนิยมอีกต่อไป หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติโลกของชนชั้นกรรมาชีพและสังคมนิยมแล้ว การปฏิวัติที่เกิดขึ้นในประเทศเมืองขึ้นกึ่งเมืองขึ้นชนิดนี้ ขั้นตอนแรก ก้าวที่หนึ่ง ถึงแม้ว่าพิจารณาจากลักษณะสังคม โดยพื้นฐานแล้วยังคงเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน ข้อเรียกร้องทางภววิสัย คือขจัดสิ่งกีดขวางบนหนทางพัฒนาของทุนนิยม แต่ว่า การปฏิวัตินี้จะไม่ใช่การปฏิวัติที่นำโดยชนชั้นนายทุนซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสถาปนาสังคมทุนนิยม สร้างอำนาจรัฐเผด็จการของชนชั้นนายทุน หากแต่เป็นการปฏิวัติที่นำโดยชนชั้นกรรมาชีพที่มีเป้าหมายขั้นแรกเพื่อสถาปนาสังคมประชาธิปไตยแบบใหม่ สร้างอำนาจรัฐเผด็จการร่วมของชนชั้นที่ปฏิวัติทุกชนชั้น เพราะฉะนั้นการปฏิวัตินี้ ก็เป็นการขจัดสิ่งกีดขวางบนหนทางสายใหญ่ของการพัฒนาสังคมสังคมนิยมพอดิบพอดี” (จากสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง เล่ม 2)

ทฤษฎีนี้ใช้ได้ในยุคสงครามกับการปฏิวัติ ถือเป็นสัจธรรมทั่วไป และเมื่อนำไปปฏิบัติโดยประสานกับสภาพรูปธรรมของสังคมประเทศจีนเก่าในยุคนั้น ก็ประสบผลสำเร็จในยุคดังกล่าว แต่ปัจจุบันเป็นยุคสันติภาพกับการพัฒนา และสัจธรรมทั่วไปต้องนำไปปฏิบัติโดยประสานกับสภาพรูปธรรมและลักษณะเฉพาะของสังคมแต่ละสังคม ประเด็นคือ ปัจจุบันที่เรียกกันว่ายุคสันติภาพกับการพัฒนา การนำเสนอประเด็นนี้สอดคล้องกับความเป็นจริงทางภววิสัยหรือไม่ และที่สำคัญสัจธรรมทั่วไปต้องนำมาประสานกับสภาพรูปธรรมและลักษณะเฉพาะของสังคมแต่ละสังคม ลักษณะทั่วไปของสังคมประเทศจีนเก่ากับสังคมประเทศไทยมีส่วนที่คล้ายคลึงกันคือ ต่างจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเมืองขึ้นกึ่งเมืองขึ้น แต่ลักษณะเฉพาะของสังคมประเทศจีนเก่ากับลักษณะเฉพาะของสังคมประเทศไทยมีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งเงื่อนไขประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ประเทศจีนเก่าผ่านการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนแบบเก่าซึ่งนำโดย ดร.ซุนยัดเซ็นที่เรียกกันว่าการปฏิวัติซินไฮ่ในปี ค.ศ. 1911 หรือ พ.ศ. 2454 โค่นล้มราชวงศ์ชิง สถาปนาประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนภายใต้ระบอบสาธารณรัฐ สำหรับประเทศไทยที่พอจะฝืนเรียกว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน อันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ในปี พ.ศ.2475 หรือ ค.ศ.1932 ซึ่งนำโดย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ทำให้ชนชั้นศักดินาจำยอมสละอำนาจ สร้างประชาธิปไตยภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประเทศจีนเก่าหลังการปฏิวัติซินไฮ่ ได้สร้างอำนาจรัฐเผด็จการโดยพรรคการเมืองพรรคเดียวคือพรรคกั๋วหมินตั่งหรือก๊กมิ่นตั๋งมาโดยตลอดจนถึงปี 1949 หรือ พ.ศ. 2492 จึงถูกโค่นล้มโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดยเหมาเจ๋อตง ช่วงเวลา 38 ปี นับจากปี 2454 ถึงปี 2492 ผ่านช่วงประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ๆ คือช่วงแรกที่พรรคกั๋วหมินตั๋งนำโดย ดร.ซุนยัดเซ็น ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่บรรดาขุนศึกเฉือนดินแดนแข็งอำนาจ ไม่ขึ้นต่อรัฐบาลกลาง ภายหลังที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งในปี ค.ศ. 1921 ดร.ซุนยัดเซ็น ผู้นำพรรคกั๋วหมินตั่ง ได้ประกาศนโยบายใหญ่ 3 ประการคือร่วมมือกับสหภาพโซเวียต ร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และ อุ้มชูกรรมกรชาวนา ในปี 1924 พรรคกั๋วหมินตั่งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนร่วมมือกันทำสงครามปราบขุนศึกภาคเหนือ ร่วมกันตั้งโรงเรียนการเมืองการทหาร บ่มเพาะผู้ปฏิบัติงาน โดยมี เจี่ยงเจี้ยสือ หรือที่ทุกคนรู้จักกันดีว่า เจียงไคเช็ค เป็นอธิการบดีและกรรมการฝ่ายการทหาร โจวเอินไหลเป็นกรรมการฝ่ายการเมือง เข้าสู่ยุคสงครามปราบขุนศึกภาคเหนือ ภายหลัง ซุนยัดเซ็น ถึงแก่กรรม เจียงไคเช็ค ผู้นำคนใหม่ของพรรคกั๋วหมินตั่งทรยศต่อการปฏิวัติในปี 1927 กวาดล้างชาวพรรคคอมมิวนิสต์จนเลือดนองแผ่นดิน เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ของสงครามกลางเมืองเป็นเวลา 10 ปีนับจากปี 1927 ถึงปี 1937 ญี่ปุ่นรุกรานประเทศจีน ความขัดแย้งทางประชาชาติกลายเป็นความขัดแย้งหลักแทนที่ความขัดแย้งทางชนชั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนร่วมมือกับพรรคกั๋วหมินตั่งอีกครั้งทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่นเป็นเวลา 8 ปีนับจากปี 1937 ถึงปี 1945 เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามยอมจำนน ความขัดแย้งทางประชาชาติหมดไป ความขัดแย้งทางชนชั้นเลื่อนขึ้นเป็นความขัดแย้งหลักของสังคม เกิดสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ระหว่างพรรคกั๋วหมินตั่งที่นำโดยเจียงไคเช็คกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดยเหมาเจ๋อตงเป็นเวลา 4 ปีนับจากปี 1945 ถึงปี 1949 จีนใหม่หรือ สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงได้สถาปนาขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม ปี 1949 ( พ.ศ.2492) นับเวลาจากการปฏิวัติซินไฮ่หรือการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนแบบเก่าได้รับชัยชนะในปี 1911 ถึงปี 1949 ที่การปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนแบบใหม่หรือแผนใหม่ได้รับชัยชนะ ใช้เวลา 38 ปี ถ้านับจากปีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งและเป็นผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่จนได้รับชัยชนะ ก็ใช้เวลาเพียงแค่ 28 ปีจากปี 1921 ถึงปี 1949 นั่นคือประวัติศาสตร์ของจีนช่วง 38 ปีโดยสังเขปนับจากปี ค.ศ. 1911 ที่มีการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนแบบเก่าถึงปี ค.ศ.1949 ที่สถาปนาจีนใหม่

มาดูของไทยเรา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 มาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 78 ปีเต็ม ได้ผ่านช่วงประวัติศาสตร์อะไรมาบ้าง คงไม่ต้องจาระไนให้ละเอียด โดยสังเขปก็คือ ผ่านกบฏบวรเดชที่มุ่งหมายจะฟื้นอำนาจศักดินาในช่วงต้น ๆ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้จะถูกปราบลง แต่ก็มีความพยายามจะฟื้นอำนาจด้วยรูปแบบต่าง ๆ ตลอดเวลา ผ่านการยึดอำนาจรัฐประหารเฉลี่ย 3 ปีต่อครั้ง ใช้รัฐธรรมนูญสิ้นเปลืองถึง 18 ฉบับ มีนายกรัฐมนตรี 27 คน ผู้นำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องเนรเทศตัวเองไปอยู่ต่างประเทศ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่มีโอกาสกลับมาเหยียบแผ่นดินบ้านเกิดอีกเลย พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อตั้งในปี พ.ศ. 2485 หลังการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนแบบเก่า 10 ปีคล้ายกับของจีน เคยจับมือกับขบวนการ เสรีไทย ซึ่งเป็นขบวนการใต้ดินร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น แต่ไม่เคยจับมือกับพรรคการเมืองที่กุมอำนาจรัฐทำกิจกรรมร่วมกัน พรรคการเมืองอันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตยอ่อนปวกเปียก ล้มลุกคลุกคลาน ยกเว้นพรรคการเมืองหัวอนุรักษ์ที่อยู่ยงคงกะพัน นักการเมืองไม่ต้องพูดถึงหัวสังคมนิยม แค่หัวเสรีนิยม หัวประชาธิปไตย ก็ต้องจบชีวิตลงคนแล้วคนเล่า ต่างกับประเทศจีนเก่าหลังการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนแบบเก่าที่อำนาจรัฐกุมอยู่ในมือของพรรคการเมืองที่เข้มแข็งเพียงพรรคเดียวคือพรรคกั๋วหมินตั่ง ลักษณะสังคมอย่างนี้ การเมืองการปกครองอย่างนี้ เงื่อนไขประวัติศาสตร์อย่างนี้มีส่วนไหนที่เหมือนกับประเทศจีนเก่า การขนเอาบทเรียนการปฏิวัติของประเทศจีนมาใช้ในประเทศไทยแบบคัดลอกตำรานั้นจะได้ผลหรือ ขอฝากไว้เป็นข้อคิด ผมไม่บังอาจชี้ว่าได้หรือไม่ได้ อีกอย่างบทเรียนของประเทศต่าง ๆ มีให้เราศึกษามากมาย ทำไม่สหภาพโซเวียตจึงล่มสลาย ทำไมกำแพงเบอร์ลินจึงพังทลาย ทำไมประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกจึงพากันเปลี่ยนสี ทำไม่ประเทศจีนที่เป็นสังคมนิยมต้องหันมาปฏิรูปเปิดประเทศ ปรับระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ ทำไม่ต้องเปิดตลาดการค้าเสรี ทำไมต้องมี 1 ประเทศ 2 ระบอบ ทำไมต้องสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำไมต้องใช้เศรษฐกิจกลไกตลาดแบบทุนนิยมมาเสริมเศรษฐกิจวางแผนแบบสังคมนิยม ทำไมต้องนำเข้าทุนจากต่างประเทศ ทำไม่ต้องมีตลาดหุ้นที่เขาบอกว่าเป็นของทุนนิยม ทำไมต้องรับเอาวิธีบริหารจัดการของทุนนิยมมาใช้ในวิสาหกิจสังคมนิยม ทำไมเวียตนามและลาวก็หันมาปฏิรูป ลดดีกรีความร้อนแรงที่มุ่งสร้างสังคมนิยมให้สำเร็จลุล่วงในเร็ววัน

คนที่จะนำการปฏิวัติ จะต้องศึกษาหาข้อมูลให้มากกว่านี้ ไม่ใช่กอดแต่ตำราเก่า ๆ ใช้วาทะกรรมเดิม ๆ


..............




โดย rungsira


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก