ชาวดิน ออนเน็ต

***อนิจา วาสนา ไพร่***

เรียกร้องเถอะ ร่ำหา กันให้ตาย
เคยบ้างไหม เคยได้ สิ่งที่หวัง
กราบแทบเท้า ติดดิน ร้องเสียงดัง
มีสักครั้ง บ้างไหม ใครเมตตา

สิ่งที่ขอ รอมา กี่ชาติแล้ว
ไร้วี่แวว สิทธิ ที่ใฝ่หา
เป็นแค่ไพร่ เขาชี้ เป็นอีกา
อย่าได้มา ร่วมหงส์ ดงผู้ดี
ร้องขอมา กี่ปี กี่ชาติแล้ว
ก็ไม่แคล้ว โดนด่า ฆ่าทุบตี
จากปู่ย่า มาถึง ทุกวันนี้
ถูกย่ำยี ไล่บี้ ให้จำนน
ตายแล้วสิบ เกิดใหม่ ได้เป็นแสน
แต่ขาแขน ถูกตรึง ด้วยเล่ห์กล
แล้วเมื่อไหร่ สิ่งนี้ จะหลุดพ้น
รับกฏโจร กฏหมาย ไร้ปราณี
อนิจา วาสนา ชะตาไพร่
ถูกใส่ร้าย กล่าวหา ว่าบัดสี
ทั้งหมอบกราบ ก้มไหว้ อย่างภักดี
แพ้วจี คนโฉด โป้ปดลวง
คงถึงครา แล้วหนา บรรดาไพร่
แม้ร่ำไห้ ร้องขอ ก็ช้ำทรวง
เขาไม่แล พวกเรา ไพร่ทั้งปวง
ต้องวัดดวง ทวงค่า ความเป็นคน


โดย ยรรยง ลูกชาวดิน

7 / มีนาคม / 2553
........


วันอังคาร, มิถุนายน 09, 2552

เปิดบันทึกช่วยจำของเคนเน็ต แลนดอน เกี่ยวกับ กรณีสวรรคต และข่าวลือเรื่องแผนการใหญ่ของ ควง และ "พี่น้องปราโมช"


พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต กับชายา หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร

โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา บล็อกsomsak's work
10 มิถุนายน 2552

หมายเหตุไทยอีนิวส์:บทความเรื่องปริศนาแห่งปริศนา63ปีกรณีสวรรคต ในไทยอีนิวส์เมื่อวานนี้ได้อ้างถึงบทความเรื่อง ข่าวลือเรื่องควงและพี่น้องปราโมชวางแผนสถาปนาให้พระองค์เจ้าจุมภฏเป็นกษัตริย์ ในปี 2491 ซึ่งดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้บันทึกไว้

ก่อนหน้านั้นดร.สมศักดิ์ได้บันทึกรายละเอียดที่มาของบทความนี้ไว้ในบทความเรื่อง Archive ของ เคนเน็ธ-มาร์กาเร็ต แลนดอน, ต้นฉบับ The King and I และ บันทึกช่วยจำว่าด้วยกรณีสวรรคตและข่าวลือแผนการใหญ่ปี 2491 ของ ควง และ "พี่น้องปราโมช" เมื่อวันที่21 กรกฎาคม 2550 ซึ่งไทยอีนิวส์ได้ตัดความมานำเสนอเฉพาะตอนบันทึกช่วยจำของ เคนเน็ต แลนดอน เกี่ยวกับ กรณีสวรรคต และข่าวลือเรื่องแผนการใหญ่ของ ควง และ "พี่น้องปราโมช" ดังต่อไปนี้ (ส่วนท่านที่สนใจอยากรู้ประวัติละเอียดของเคนเน็ต แลนดอน คลิ้กที่นี่)

บันทึกนี้ แลนดอน ในฐานะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่เชี่ยวชาญเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทำขึ้นเมื่อ 20กุมภาพันธ์ 1948(พ.ศ. 2491) คือไม่กี่เดือนหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ในระหว่างนั้น คณะรัฐประหารของพิบูล-ผิน-เผ่า ยังคงปล่อยให้พวกนิยมเจ้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดยควง อภัยวงศ์ และพี่น้องตระกูลปราโมช (เสนีย์-คึกฤทธิ์) จัดตั้งรัฐบาล มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2491 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2491 ควงก็ได้รับการเลือกเป็นนายกฯจากสภา (มีวุฒิแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารและ "อภิรัฐมนตรี" กึ่งหนึ่ง) และ ครม.ของเขาได้รับการรับรองจากสภาฯเมื่อวันที่ 5 มีนาคม (นี่คือกลุ่มเหตุการณ์ที่ย่อหน้าแรกในบันทึกพาดพิงถึงว่ากำลังจะเกิดขึ้น)

ในขณะนั้น ประเด็นที่ยังคงมีความสำคัญยิ่งทางการเมืองในพระนคร และเป็นเรื่องใหญ่ที่ทหารและพวกนิยมเจ้าใช้มาอ้างในการทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์ระบอบการปกครองใหม่(1) ก็คือ "กรณีสวรรคตในหลวงอานันท์"

ในขณะนั้น ข่าวลือต่างๆเกี่ยวกับกรณีนี้ ยังคงแพร่หลายในพระนคร แต่ขณะที่ข่าวลือเรื่องกรณีสวรรคต เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ (9 มิถุนายน 2489) พุ่งเป้าไปที่การเล่นงานปรีดี พนมยงค์ (เพราะปล่อยโดยพวกนิยมเจ้าเป็นส่วนใหญ่) อาจกล่าวได้ว่า หลังรัฐประหาร หรือหลังจากปรีดีถูกโค่นแล้ว และเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ข่าวลือที่เป็นในเชิงพุ่งเป้าไปในทางตรงข้ามกลับเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศ คือวงการทูตประเทศต่างๆ และผู้สื่อข่าวต่างชาติ (การพบปะสนทนาเรื่องกรณีสวรรคต ระหว่าง พระองค์เจ้าธานีนิวัต ประธานองคมนตรี กับ ลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตเต้น ที่อินเดีย ที่ปรีดี พาดพิงถึง ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้เอง)

ในบริบทนี้เองที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นั้นเอง ได้เกิดข่าวลือในพระนครว่า ควงและพี่น้องปราโมช กำลังวางแผนการใหญ่ ที่จะให้มีการออกประกาศเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ซึ่งเกี่ยวข้องไปถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระองค์เจ้าจุมภฎพงษ์บริพัตร ราชโอรสองค์ใหญ่ของกรมพระนครสวรรค์ ผู้อยู่ในอันดับที่ 4 ของการครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 7 (ดูแผนภูมิที่ผมเคยเผยแพร่ก่อนหน้านี้)

บันทึกช่วยจำของเคนเน็ต แลนดอน ข้างล่างนี้ เขียนขึ้นเพื่อวิเคราะห์ข่าวลือที่ว่านี้ (ซึ่งดูเหมือนสถานทูตอเมริกันจะถือเป็นเรื่องน่าเชื่อถือ หรือไม่ก็น่าสนใจ หรือสำคัญ พอที่จะรายงาน) ในคำแปลบันทึกช่วยจำของผม (และในภาพถ่ายบันทึกช่วยจำที่โพสต์ให้ดูประกอบ) ผมเองได้เซ็นเซอร์ข้อความบางตอนออก เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่าผิดกฎหมายได้ ( โดยเฉพาะในบริบทปัจจุบัน ใครที่สนใจ ลองดูหน้า 176 ของหนังสือที่โปรเจ้า-แอนตี้ปรีดีอย่างสุดๆ ของสรรใจ แสงวิเชียร และ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย เรื่อง กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 แล้วลองนึกเปรียบเทียบว่า ถ้ามีการเขียนเช่นนี้ในปัจจุบันจะทำได้หรือ? ระดับของการพูดถึงและอภิปรายเรื่องนี้ได้ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่จำกัดแคบลงจนไม่เหลืออะไรเลยในปัจจุบัน เพียงไม่กี่ทศวรรษนี้เอง)


ข่าวลือเรื่องควงและพี่น้องปราโมชวางแผนสถาปนาให้พระองค์เจ้าจุมภฏเป็นกษัตริย์ ในปี 2491

ดร.สมศักดิ์เคยเขียนเรื่องตามหัวเรื่องข้างบนคือ ข่าวลือเรื่องควงและพี่น้องปราโมชวางแผนสถาปนาให้พระองค์เจ้าจุมภฏเป็นกษัตริย์ ในปี 2491 ลงในบล็อกของเขาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2551 มีรายละเอียดว่า

เมื่อต้นปีกลาย ผมได้โพสต์เผยแพร่เอกสารบันทึกลับที่เขียนโดย เคนเน็ธ พี แลนดอน (ผู้เขียน Siam in Transition และผู้แปล "เค้าโครงเศรษฐกิจ" เป็นภาษาอังกฤษคนแรก และสามีของ มาร์กาเร็ต ผู้เขียน Anna and the King of Siam)ตอนนั้น ผมได้เซ็นเซอร์ข้อความบางตอนออก เร็วๆนี้ ผมได้ทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง (เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งบทความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในช่วงทศวรรษ 2490 ที่ผมพยายามทำอยู่) และคิดว่า มีข้อความบางตอน ไม่จำเป็นต้องเซนเซอร์อีก คือส่วนที่เกียวกับพระองค์เจ้าจุมภฏและ ควง-"พี่น้องปราโมช"

เรื่องของเรื่องคือ สถานทูต-กท.ต่างประเทศอเมริกันได้รับข่าวลือเรื่อง ควง และ "พี่น้องปราโมช" เตรียมวางแผนจะสถาปนาพระองค์เจ้าจุมภฏเป็นกษัตริย์ เรื่องนี้เป็นเพียง "ข่าวลือ" หรือ "ข่าวกรอง" (intelligence) ซึ่งอาจจะไม่จริงก็ได้ แต่อย่างน้อย ก็มีความน่าเชื่อถือในระดับที่สถานทูตรายงานและเจ้าหน้าที่กระทรวง (คือ แลนดอน) ทำบันทึกแสดงความเห็น

ผมไม่แน่ใจว่า ในที่สุดแล้ว เรื่องนี้สามารถพิสูจน์ความจริง-ไม่จริง ได้หรือไม่ (ว่า ควง-"พี่น้องปราโมช" มีไอเดียเรื่องนี้) ซึ่งก็เช่นเดียวกับข้อมูลจำนวนมาก ที่อยู่ในเอกสารทางการทูตของอเมริกันและอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น งานของกอบเกื้อ ทั้งเรื่อง Thailand's Durable Premier และ เรื่อง Kings, Country and Constitutions ได้อาศัยข้อมูลชุดนี้เป็นหลัก และมีหลายข้อมูล เป็นเรื่องคล้ายกันนี้ แม้บางอันจะดูน่าเชื่อถือ เพราะอ้างคำของบางคนในวงการรัฐบาลหรือราชสำนักเอง เช่น เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างในหลวง กับ พิบูล และ เผ่า โดยเฉพาะกรณีรัฐธรรมนูญ 2495 เป็นต้น

ให้ผมยกตัวอย่างหนึ่ง คือ ตามข้อมูลชุดนี้ กล่าวว่า ช่วงหลังรัฐประหาร 2490 พิบูลต้องการเป็นอภิรัฐมนตรีคนหนึ่งด้วย ผมเองไม่เชื่อว่าข้อมูลนี้เป็นจริง แต่ดูเหมือนทั้ง กอบเกื้อ และ Handley ที่นำไปอ้างต่อ จะเชื่อ ฯลฯ

ในเวลาไม่นานข้างหน้า ผมเข้าใจว่า จะมีนักวิชาการบางท่านนำข้อมูลบางส่วนจากข้อมูลชุดนี้มาเผยแพร่เพิ่มเติมอีก ซึ่งแม้จะเป็นเรื่อง "เล็กๆ" แต่อาจจะ sensational พอสมควร จากจุดของผู้สนใจความขัดแย้งช่วง 2500 โดยเฉพาะบทบาทของราชสำนัก ในความขัดแย้งที่นำไปสู่การโค่นพิบูล-เผ่า (เท่าที่ผมได้เห็นเป็นข้อมูลทีน่าสนใจมาก)

โดยสรุปแล้ว ข้อมูลทางการทูตของอเมริกันและอังกฤษ เกี่ยวกับการเมืองไทย ยังคงมีความสำคัญและน่าสนใจยิ่ง แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบความจริง (verification) บ้าง นักเรียนประวัติศาสตร์ต้องชั่งน้ำหนัก และอภิปรายความน่าเชื่อถือเป็นกรณีๆไป

เฉพาะในกรณีข่าวลือเรื่อง ควง-"พี่น้องปราโมช" นี้ ผมไม่คิดว่า สามารถยืนยันความจริงได้ดังกล่าวแล้ว แต่ประเด็นที่ผมคิดว่า เอกสารนี้ช่วยทำให้มองเห็น (และนี่คือจุดประสงค์ของการเผยแพร่ในทีนี้) คือ สถานะของรัชกาลปัจจุบัน ในช่วงปีแรกๆ มีความไม่แน่นอน หรือไม่มั่นคงสูง โดยเฉพาะในส่วนทีเชื่อมโยงกับกรณีสวรรคตของรัชกาลก่อน และโดยเฉพาะในสายตาของวงการทูต-รัฐบาลตะวันตก




คำแปล(ส่วนที่ใส่เครื่องหมาย [........] คือข้อความที่ผมยังขอเซ็นเซอร์ ข้อความเน้น คือข้อความที่เดิมผมเคยเซ็นเซอร์)

ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน ได้ตกลงเห็นชอบร่วมกันว่า หาก ควง อภัยวงศ์ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี และหากรัฐบาลของเขาได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา ตัวแทนของรัฐบาลแต่ละประเทศดังกล่าวที่กรุงเทพก็จะให้การรับรองแก่รัฐบาลควงอย่างเป็นทางการ และความสัมพันธ์กับรัฐบาลสยามก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติต่อไป [ความสัมพันธ์ปกติถูกพักไว้หลังรัฐประหาร - สมศักดิ์] รัฐบาลของทั้งสี่ประเทศยังตกลงร่วมกันว่า หากคนอื่นที่ไม่ใช่ควงได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของสี่ประเทศก็จะปรึกษาหารือกัน ก่อนที่จะให้การรับรองรัฐบาลสยามอย่างเป็นทางการ

รายงานล่าสุดเกี่ยวกับการลอบปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ ที่ว่า ควง กำลังเตรียมตัวที่จะประกาศว่า [........] ; ว่าในหลวงภูมิพลจะทรงสละราชสมบัติ และว่า พระองค์เจ้าจุมภฏ จะทรงเป็นกษัตริย์แทน ได้ทำให้เกิดเป็นปัจจัยใหม่ขึ้นมาในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจสร้างความปั่นป่วนอย่างถึงราก การแบ่งขั้วการเมืองในขณะนี้

ในปี 1945 [ที่ถูกควรเป็นปี 1944 มากกว่า - สมศักดิ์] ควง ได้รับการดันขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองโดย ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งตอนนี้กำลังลี้ภัยในต่างประเทศ ความทะเยอทะยานของควงทำให้เกิดแตกหักกับปรีดีภายในเวลา 9 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน 1947 ควงได้รับการดันขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองอีก คราวนี้โดย พิบูล หลังจากพิบูลยึดอำนาจรัฐบาลจากปรีดีด้วยการรัฐประหาร เช่นเดียวกับปรีดี พิบูลคิดว่าควงจะเป็นเบี้ยที่เต็มใจและผู้ติดตามที่ว่านอนสอนง่าย แต่ดูเหมือนว่า อีกครั้งที่ควงเองกำลังเดินหมากการเมืองด้วยความทะเยอทะยานของตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การแตกหักกับพิบูล

พิบูลขัดแย้งอย่างมากกับข้อเสนอของควงที่ว่าในหลวงภูมิพล [........] และที่ให้ พระองค์เจ้าจุมภฏเป็นกษัตริย์แทน อาจจะเป็นความจริงที่ว่า ในหลวงภูมิพล [........] ผมเองได้เสนอความเป็นไปได้เช่นนี้ในบันทึกช่วยจำฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนหน้านี้. กล่าวในทางการเมือง ไม่เป็นสิ่งสำคัญว่า ในหลวงภูมิพล [........] หรือไม่ หากจุดมุ่งหมายเบื้องหลังการกล่าวหานี้ คือการจัดการให้ พระองค์เจ้าจุมภฏขึ้นครองราชบัลลังก์ เพราะเรื่องนี้ก็จะเป็นเพียงความพยายามอย่างจงใจของควงที่จะฟื้นฟูอำนาจที่เคยมีอยู่ก่อน [2475] ของสถาบันกษัตริย์ และสถาปนาให้ควงเองและพี่น้องปราโมชเป็นผู้นำของคณะนิยมเจ้าและของประเทศสยาม ดูเหมือนควงและพี่น้องปราโมชหวังว่า พวกเขาจะสามารถรักษาอำนาจตัวเองไว้ได้หากพระองค์เจ้าจุมภฏได้ทรงขึ้นครองราชย์ เพราะพระองค์เจ้าจุมภฏเป็นบุคคลผู้มีวุฒิภาวะ [ประสูติ 2447 - สมศักดิ์] และมีทรัพย์สมบัติไม่น้อย ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเมืองในราชสำนักเป็นเวลานาน มีผู้สนับสนุนพระองค์จำนวนมากในหมู่ชาวไทยและจีนในประเทศสยาม และทรงได้รับการผลักดันจากพระชายาผู้มีความทะเยอทะยาน ซึ่งในฐานะธิดาผู้หลักแหลมของอดีตเสนาบดีต่างประเทศของสยามผู้ชาญฉลาดที่สุดคนหนึ่ง [หมายถึง มรว.พันทิพย์ ธิดาคนแรกของพระองค์เจ้าไตรทศพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย - สมศักดิ์] ทรงมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับเกมการเมืองทั้งภายในประเทศและกับต่างประเทศ

สถานการณ์ปัจจุบันถูกทำให้ปั่นป่วนทางการเมืองเพิ่มขึ้นอีกจากบทบาทคอร์รัปชั่นของหลวงกาจสงครามผู้ให้การสนับสนุนควง และผู้ควบคุมกำลังทหารบางส่วนสำคัญไว้ด้วย การปฏิบัติแบบคอร์รัปชั่นของหลวงกาจสร้างความไม่พอใจให้กับพิบูล ซึ่งถือว่าการคอร์รัปชั่นเช่นนี้เป็นอภิสิทธิ์ของเขาเองและต้องการให้ลูกน้องอย่างหลวงกาจ ได้รับส่วนแบ่งในการโกงกินน้อยกว่าเขา ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากพิบูลเองคอร์รัปชั่นจนรวยแล้ว จึงสามารถแสดงท่าทีเป็นผู้มีคุณธรรมต่อกรณีคอร์รัปชั่นของหลวงกาจได้ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเองทั้งในประเทศและต่อต่างชาติ

พิบูลกับปรีดีเป็นคู่ปฏิปักษ์ทางการเมืองในคณะพรรคเดียวกัน ทั้งคู่คัดค้านการรื้อฟื้นอำนาจให้สถาบันกษัตริย์พอๆกัน พวกเขาไม่มีปัญหากับกษัตริย์องค์ปัจจุบัน เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่มีบริวารส่วนพระองค์ หมากครั้งนี้ของควงอาจทำให้พิบูลกับปรีดีหันมาคืนดีกันเพราะกลัวต่อความเป็นไปได้ [specter] ที่พระองค์เจ้าจุมภฏจะได้เป็นกษัตริย์ ควงกับพวกกำลังพยายามสร้างคณะการเมืองอีกคณะหนึ่งที่ต่างออกไปจากคณะที่แตกออกเป็นพวกปรีดีและพวกพิบูล [หมายถึงคณะราษฎ - สมศักดิ์] ควงไม่มีทางประสบความสำเร็จหากเขาได้รับการสนับสนุนเพียงจากหลวงกาจและกำลังทหารที่หลวงกาจคุม และจากพระองค์เจ้าจุมภฏและบริวารพวกนิยมเจ้า การสนับสนุนจากพิบูลเป็นสิ่งจำเป็นหากควงอยากจะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

หากเค้าลางในขณะนี้ของการหันมาคืนดีกันระหว่างพิบูลกับปรีดียังคงมีต่อไป เราก็อาจจะได้เห็นสถานการณ์พัฒนาไปเป็นแบบเดียวกับเดือนธันวาคม 1938 เมื่อ พิบูลกับปรีดี รู้สึกว่า ต้องการอีกฝ่ายหนึ่ง และร่วมมือกันจัดต้งรัฐบาลผสมขึ้นมา


ความเห็นต่อท้ายเพิ่มเติมของสมศักดิ์(ในคราวนำเสนอบทความครั้งแรก เมื่อที่ 21 กรกฎาคม 2550-ไทยอีนิวส์)

ดังที่ทราบกันดี specter เรื่องพระองค์เจ้าจุมภฏกับแผนการใหญ่ของควงกับพี่น้องปราโมช ที่ แลนดอน พูดถึงนี้ ไม่ได้ปรากฏเป็นจริง แต่เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย ที่ "ฉาก" ที่ใกล้เคียงกับที่ แลนดอน พูดนี้ คือ specter ในลักษณะเดียวกัน (แต่เกี่ยวข้องกับคนละ actor) ได้ปรากฏขึ้นจริงๆในอีก 9 ปีต่อมา และพิบูลกับปรีดี ได้พยายามหันมาคืนดีกันจริงๆ แต่สายเกินไป (ดูบทความเรื่อง "ปรีดี, จอมพล ป., กรณีสวรรคต และรัฐประหาร 2500" และ "จุดเปลี่ยน 2500" ของผม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก