ชาวดิน ออนเน็ต

***อนิจา วาสนา ไพร่***

เรียกร้องเถอะ ร่ำหา กันให้ตาย
เคยบ้างไหม เคยได้ สิ่งที่หวัง
กราบแทบเท้า ติดดิน ร้องเสียงดัง
มีสักครั้ง บ้างไหม ใครเมตตา

สิ่งที่ขอ รอมา กี่ชาติแล้ว
ไร้วี่แวว สิทธิ ที่ใฝ่หา
เป็นแค่ไพร่ เขาชี้ เป็นอีกา
อย่าได้มา ร่วมหงส์ ดงผู้ดี
ร้องขอมา กี่ปี กี่ชาติแล้ว
ก็ไม่แคล้ว โดนด่า ฆ่าทุบตี
จากปู่ย่า มาถึง ทุกวันนี้
ถูกย่ำยี ไล่บี้ ให้จำนน
ตายแล้วสิบ เกิดใหม่ ได้เป็นแสน
แต่ขาแขน ถูกตรึง ด้วยเล่ห์กล
แล้วเมื่อไหร่ สิ่งนี้ จะหลุดพ้น
รับกฏโจร กฏหมาย ไร้ปราณี
อนิจา วาสนา ชะตาไพร่
ถูกใส่ร้าย กล่าวหา ว่าบัดสี
ทั้งหมอบกราบ ก้มไหว้ อย่างภักดี
แพ้วจี คนโฉด โป้ปดลวง
คงถึงครา แล้วหนา บรรดาไพร่
แม้ร่ำไห้ ร้องขอ ก็ช้ำทรวง
เขาไม่แล พวกเรา ไพร่ทั้งปวง
ต้องวัดดวง ทวงค่า ความเป็นคน


โดย ยรรยง ลูกชาวดิน

7 / มีนาคม / 2553
........


วันศุกร์, ตุลาคม 10, 2551

ข่าว นสพ.โลกวันนี้ อหิงสามานย์ (พจนานุกรมฉบับการเมืองใหม่)

“ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้รวม 443 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 ราย เป็นชาย 1 ราย หญิง 1 ราย ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 82 ราย ในโรงพยาบาล 9 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ กทม. และวชิรพยาบาล 32 ราย โรงพยาบาลกลาง 4 ราย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 2 ราย โรงพยาบาลราชวิถี 2 ราย โรงพยาบาลศิริราช 4 ราย โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 12 ราย โรงพยาบาลรามาธิบดี 19 ราย โรงพยาบาลตำรวจ 5 ราย โรงพยาบาลเลิดสิน 2 ราย ซึ่งผู้บาดเจ็บทุกรายได้รับรายงานจากแพทย์ว่าอาการอยู่ในขั้นปลอดภัย ทีมแพทย์ได้ให้การดูแลอย่างเต็มที่”
ศูนย์นเรนทรได้สรุปรายงานเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ปิดล้อมบริเวณรัฐสภา แม้ส่วนใหญ่จะบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย แต่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะล้วนเป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น
ที่สำคัญมีผู้บาดเจ็บจนสูญเสียอวัยวะ 8 ราย โดย 4 ราย เป็นชายที่แขนขาถูกตัดขาด อีก 4 ราย นิ้วมือ นิ้วเท้าขาด เป็นชาย 2 ราย หญิง 2 รายนั้น ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าอาจใช้อาวุธรุนแรงมากกว่าการยิงแก๊สน้ำตา จึงทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บเช่นนี้

“รัฐบาล-ตำรวจ” จำเลยสังคม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรัฐบาลและตำรวจจึงกลายเป็นจำเลยต่อสังคมทันที ไม่ว่าคำสั่งและการปฏิบัติการดังกล่าวจะชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม แต่ภาพที่ปรากฏไปตามสื่อต่างๆทำให้ถูกประณามว่าการสลายการชุมนุมผิดหลักมนุษยธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามกติกาสากล โดยเฉพาะขั้นตอนการเจรจาที่ต้องใช้ความอดทนและให้เวลาผู้ชุมนุมก่อน ทั้งยังระดมยิงแก๊สน้ำตาอย่างมากมาย รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบและออกมารับผิด ขอโทษประชาชน และตั้งคณะกรรมการที่เชื่อถือได้ขึ้นมาทำการสอบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว
แม้ทางตำรวจจะแสดงหลักฐานและแถลงยืนยันว่าการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนไม่ได้เกิดจากอุปกรณ์ของตำรวจที่นำไปใช้ควบคุมการชุมนุม บาดแผลที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากวัตถุระเบิดที่เชื่อว่ามีการปฏิบัติการซ้อนขึ้นระหว่างการทำหน้าที่ของตำรวจเพื่อสร้างสถานการณ์ ซึ่ง พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ยอมรับว่ารู้สึกท้อใจ กำลังใจใกล้จะหมดลงแล้ว หลังถูกหลายฝ่ายประณามและตกเป็นจำเลยสังคม และต่อไปนี้จะไม่มีการใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมอีก
ดังนั้น การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มพันธมิตรฯของรัฐบาล เพื่อศึกษาสาเหตุและพิจารณาว่าฝ่ายใดใช้ความรุนแรง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลางให้ได้ข้อสรูปโดยเร็ว รวมทั้งตั้งคณะกรรมการเยียวยาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องแต่งตั้งบุคคลที่ทุกฝ่ายยอมรับและเปิดเผยผลการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถยุติความขัดแย้งและแตกแยกที่ฝังลึกได้ รวมทั้งกระแสบีบให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่

กลับสู่วิกฤตรอบใหม่
อย่างที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในรูปแบบคำถามคำตอบวิกฤตการเมืองไทย โดยระบุว่า เป็นเรื่องสลับซับซ้อนและมองได้หลายแง่มุม เป็นสงครามระหว่างชนชั้น เป็นปัญหา "สองนคราประชาธิปไตย" ที่คนชนบทกับคนเมืองมีความเห็นแตกต่างกัน เป็นการปะทะระหว่างพลังจารีตนิยมกับพลังสมัยใหม่ หรือเป็นการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายอำมาตยากับฝ่ายสาธารณรัฐก็ตามเชื่อว่าการเลือกตั้งใหม่จะแก้ปัญหาได้แค่ในระยะสั้น แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว หากรัฐบาลนิยมระบอบทักษิณกลับมาครองอำนาจอีก สถานการณ์จะกลับไปเริ่มต้นประท้วงอีก และกลับไปตั้งต้นวิกฤตรอบใหม่ นอกจากจะเป็นการเมืองใหม่อย่างพันธมิตรฯเรียกร้อง

ภาพลักษณ์ประเทศย่อยยับ
ขณะที่สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษระบุสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ถือว่าเลวร้ายที่สุดในรอบ 16 ปี นับแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ยังคงเป็นความเจ็บปวดของคนไทย โดยภาพความสูญเสียนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกนำเสนอในภาพความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาชน หรือตำรวจ ซึ่งไม่มีใครอยากเห็น ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือต่างชาติ
"นอกจากจะสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว สิ่งที่ประเทศไทยสูญเสียคือภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะประเทศแห่งรอยยิ้ม ผู้รักความสงบ ภาพลักษณ์ของประเทศที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม สูญเสียสภาพคล่องของเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้เกิดความชะงักงันกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรายได้สำคัญ"

ปชป. ประจานรัฐบาลทั่วโลก
แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังทำหนังสือถึงสถานทูตทั่วโลกประจานรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า ต้องการให้สังคมทูตได้รับรู้ข้อเท็จจริง ไม่ใช่เพียงได้รับรู้จากรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว เพราะอย่างน้อยจะทำให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ที่รู้สึกว่าบรรยากาศทางการเมืองและศีลธรรมไม่เอื้ออำนวยที่จะเข้าร่วมประชุมแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพราะรัฐบาลไม่จำเป็นต้องสลายผู้ชุมนุมอย่างสงบ และสามารถเลื่อนการแถลงนโยบายออกไปได้
โดยเฉพาะการสลายผู้ชุมนุมของตำรวจไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า และเป็นการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แต่หลังเหตุการณ์ไม่ปรากฏตัวแทนของรัฐบาลขณะนั้นออกมาแสดงความรับผิดชอบเลย ยกเว้น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
แต่มีการตั้งคำถามพรรคประชาธิปัตย์เช่นกันว่า เป็นการฉวยโอกาสสร้างภาพบนซากความตายและการบาดเจ็บหรือไม่ โดยการเรียกร้องให้ยุบสภานั้น ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมมือกับสมาชิกวุฒิสภาให้มีความเห็นสอดคล้องกันลาออกจากการเป็นสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งน่าจะมีความสง่างามและกดดันให้รัฐบาลต้องยุบสภาในที่สุด

แก้วิกฤตบนศพคนจน
แต่ที่น่าสนใจคือมุมมองของนายใจ อึ๊งภากรณ์ นักวิชาการและเอ็นจีโอ ที่ระบุว่า วิกฤตการเมืองขณะนี้เป็นเพราะทุกสถาบันสาธารณะของไทยล้มเหลวในการปกป้องประชาธิปไตย และเห็นว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พันธมิตรฯไม่ได้ใช้หลักอหิงสาอย่างที่ประกาศ แต่จงใจก่อความรุนแรงและความวุ่นวายตามแผนการสร้าง “เคออส” (Chaos) ของแกนนำพันธมิตรฯ ที่ต้องการนำระเบียบใหม่ของเผด็จการเข้ามา โดยอาศัยอำนาจทหาร ศาล หรืออำนาจนอกกรอบระบบประชาธิปไตย เพื่อล้มรัฐบาลและทำรัฐประหาร
นายใจเชื่อว่าฝ่ายพันธมิตรฯมีอาวุธปืนและอาวุธอื่นๆ ทั้งหลายคนในพันธมิตฯหรือที่พันธมิตรฯชื่นชมก็เคยมีส่วนในเหตุนองเลือดที่กรือเซะ 6 ตุลา และในพฤษภา 35 ส่วนรัฐบาลและตำรวจก็มีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน สรุปแล้วทั้งพันธมิตรฯ พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม ส.ว. และรัฐบาล ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ควรไปประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วยสองมาตรฐาน
“สถาบันสาธารณะทั้งหลายในสังคมไทยไม่มีทางมาแก้ข้อพิพาทปัจจุบันด้วยความเป็นกลางและด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ ทหาร ศาล พรรคการเมือง และรัฐบาล เลือกข้างไปแล้ว และไม่มีมาตรฐานความเสมอภาค นักวิชาการส่วนใหญ่หมดสภาพในการวิเคราะห์ เพราะมีอคติต่อคนจนและประชาธิปไตย”
นายใจจึงเรียกร้องให้รณรงค์เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและการปฏิรูปสังคมพร้อมกัน โดยต้องเน้นแกนนำภาคประชาชนเป็นหลัก เพราะภาคประชาชนละเลยภาระนี้มานานและไปเลือกข้างในข้อพิพาทระหว่างชนชั้นปกครอง เพื่อสร้างขั้วอิสระทางการเมืองและเริ่มกระบวนการปฏิรูปสังคมของภาคประชาชนเอง เพราะไม่เช่นนั้นวิกฤตสังคมไทยจะถูกแก้ไขบนสันหลังและศพของคนจน

ต้องฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง
"เพราะสิ่งที่เรามาสู้นั้น เรามาสู้เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่ถ้าเรามีตำรวจรับใช้นักการเมืองและพร้อมทำร้ายประชาชนให้ถึงแก่ชีวิตได้ โดยไม่สนใจใยดีถึงชีวิตของผู้คนที่มาทำงานเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นการทดสอบว่าในอนาคตถ้าสังคมไทยจะเกิดการจลาจลและมีการเข่นฆ่าทั้งสังคม มันเป็นเรื่องที่ตำรวจไทยเป็นคนสร้างให้คนดีๆ คนมีศีลธรรม มีคุณธรรม มีจริยธรรม อย่างพ่อแม่พี่น้องที่อยู่ในที่นี้ หรือดู ASTV อยู่ เริ่มหันมามองว่าอหิงสาสันติอาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง อาจจะต้องฆ่ากันไปให้ตายข้างหนึ่ง”
นายสนธิ ลิ้มทองกุล ปราศรัยกับผู้ชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลคืนวันที่ 7 ตุลาคม ทั้งยังพูดเป็นปริศนาไว้ว่า
“อย่ากะพริบตา หนังเรื่องนี้เป็นหนังยาว ใกล้จบแล้ว อำนวยการสร้างตั้งแต่ปี 48 ฉายมาเรื่อยถึงปี 49 จนถึงปี 51 หลายคนดูแล้วถามผมว่าเมื่อไรจะจบ และจะคิดถึงแกนนำพันธมิตรฯ ถ้าหนังจบจะไม่เห็นหน้าผมอีกต่อไป”

“จำลอง” ยันม็อบสมัครใจ
ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หลังจากได้รับการประกันตัว ได้ยืนยันถึงจุดยืนพันธมิตรฯว่า จะสลายการชุมนุมก็ต่อเมื่อรัฐบาลยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญและต้องลาออกทั้งคณะเพื่อเป็นการรับผิดชอบและนำไปสู่การเมืองใหม่เท่านั้น และปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพันธมิตรฯจัดดาวกระจายออกไป เพราะการจัดดาวกระจายมีมาตลอด ไม่ได้ปิดบัง ไม่เคยทำความสูญเสียอย่างใด
พล.ต.จำลองยืนยันว่า ความสูญเสียเกิดขึ้นจึงไม่ใช่ความผิดของพันธมิตรฯ เพราะทำตามกฎหมายมาตลอด ท่าทีเหมือนเดิมคือชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ การดาวกระจายทุกครั้งทุกคนไปด้วยความสมัครใจ ไม่ได้บังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด

อหิงสากับความรุนแรง
ท่าทีของนายสนธิและ พล.ต.จำลองจึงเห็นได้ชัดเจนว่าต้องการให้รัฐบาลลาออก ไม่ใช่ยุบสภา เพื่อสร้างการเมืองใหม่ตามแนวทางของแกนนำพันธมิตรฯ ทั้งที่หลายฝ่ายพยายามเสนอทางออกให้ตั้งคณะกรรมการอิสระที่เป็นกลางหรือ ส.ส.ร.3 เพื่อปฏิรูปการเมือง และให้ประชาชนลงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่
ความหวังที่หลายฝ่ายอยากเห็นการเมืองไทยมีทางออกที่ไม่เกิดความรุนแรงจึงต้องย้อนกลับไปถามแกนนำพันธมิตรฯที่ประกาศว่าใช้หลักอหิงสามาโดยตลอดนั้น หากอหิงสาตามแนวทางของแกนพันธมิตรฯไม่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ แกนนำพันธมิตรฯจะใช้ความรุนแรงฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่งอย่างที่นายสนธิประกาศไว้หรือไม่
เพราะความรุนแรงไม่ใช่เพียงการใช้กำลังหรืออาวุธเท่านั้น แต่การปลุกระดมและบิดเบือนด้วยคำพูดที่หยาบคายและด่าทอต่างๆนานาก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ความรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายพื้นที่ ซึ่งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บคือผู้สนับสนุนพันธมิตรฯที่จำนวนไม่น้อยมีความเชื่อและศรัทธาแกนนำพันธมิตรฯชนิดที่พร้อมจำทำตามทุกอย่างที่แกนนำพันธมิตรฯชี้นำหรือปลุกระดม จนมีการเปรียบเทียบว่าเหมือนสาวกคลั่งที่เจ้าลัทธิ ซึ่งจริงหรือเท็จส่วนหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นจาก ASTV ที่ถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งสื่อต่างๆในเครือ ซึ่งนายสนธิยอมรับว่า ASTV เป็นกลไกสำคัญยิ่งต่อการชุมนุมของพันธมิตรฯที่ยาวนานหลายเดือน รวมทั้งการต่อสู้กับระบอบทักษิณมากว่า 3 ปี
วิกฤตการเมืองไทยขณะนี้จึงเป็นที่ยอมรับกันว่าสื่อได้กลายเป็นอาวุธสำคัญที่ทิ่มแทงคนและนำคนไปตายและบาดเจ็บมากมาย ซึ่งไม่เพียง ASTV เท่านั้น แม้แต่สื่อค่ายอื่นๆยังเลือกข้างและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งและความรุนแรง


สื่อ-ฆาตกรเลือดเย็น
อย่างกรณีประเทศรวันดา เมื่อปี 2537 ที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันถึง 500,000 คน ซึ่งนักวิชาการศึกษาข้อมูลพบว่าผู้ที่ลงมือฆ่าประมาณ 15% บอกถึงสาเหตุที่ทำไปเพราะได้รับการบอกเล่าโดยสื่อมวลชน ทำให้มีคนที่ถูกตัดสินลงโทษ 3 คนคือ 2 คนเป็นผู้อ่านข่าวสถานีวิทยุ อีกคนหนึ่งเป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ในข้อหาเกี่ยวพันกับการทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ทำให้ชาวตุ๊ดซี่ตายไป 500,000 คน
แม้วันนี้ ASTV อาจจะยังไม่ได้ทำให้คนไทยฆ่ากันตายมากมายเช่นในรวันดา แต่ก็เป็นส่วนสำคัญในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ อย่างที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติต้องออกแถลงการณ์เรียกร้องให้การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนทุกแขนงใช้วิจารณญาณขั้นสูงสุดในการพิจารณานำเสนอข้อมูลข่าวสารจากทุกฝ่าย โดยยึดหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ก่อนการนำเสนอข่าว รวมทั้งคำนึงถึงอยู่เสมอว่าการนำเสนอข่าวสารดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ เพราะอาจนำไปสู่การตื่นตระหนกและเพิ่มระดับความรุนแรงของสถานการณ์ที่ยากจะควบคุมได้
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติยังเชื่อมั่นว่า วิกฤตบ้านเมืองขณะนี้สามารถยุติได้ หากรัฐบาลและฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องมีความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการดำเนินการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเหนือผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

อหิงสามานย์
เช่นเดียวกับคำถามมากมายที่พุ่งไปที่แกนนำพันธมิตรฯว่า การต่อสู้ที่ว่าอหิงสานั้นทำไมจึงทำให้ประชาชนที่บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บและล้มตาย แม้แกนนำพันธมิตรฯอย่าง พล.ต.จำลองยืนยันไม่ใช่ความผิดของพันธมิตรฯ และไม่ใช่การบังคับขู่เข็ญให้ผู้ชุมนุมออกไปดาวกระจายเพื่อกดดันตามสถานที่ต่างๆก็ตาม
แต่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เช่นกันว่าแกนนำพันธมิตรฯคือหัวใจสำคัญที่นำมวลชนของพันธมิตรฯออกไปกดดันยังสถานที่ต่างๆ จนมวลชนผู้บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงความบอบช้ำและเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองและประชาชนขณะนี้
เช่นเดียวกับที่แกนนำพันธมิตรฯยืนยันว่า การต่อสู้กว่า 3 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นไปด้วยความชอบธรรมและยึดมั่นในหลัก “อหิงสา” หรือ “อหังสันติ” นั้น
ก็คงต้องบรรจุคำว่า “อหิงสามานย์” ไว้ในพจนานุกรมศัพท์การเมืองใหม่ เพื่อให้ประชาชน นักวิชาการ และราชบัณฑิตทั้งหลาย ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์และให้ความหมายในยุควิปริตการเมืองไทยขณะนี้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก