สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ทางการเมือง 2-3 เรื่อง สะท้อนสภาพและอุณหภูมิทางการเมืองอย่างแท้จริงในรอบ 10 วันเป็นครั้งแรกนับจากรายการ “สงกรานต์เลือด 13 เมษายน 2552”
2 เรื่องแรกอาจอยู่ในความคาดหมายของคอการเมืองบางส่วนมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ถือได้ว่าเป็น “เซอร์ไพรส์เล็กๆ” เมื่อนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมกับผลพวงในการยุติการบล็อกเว็บไซต์ฝ่ายประชาธิปไตย 71 เว็บที่ถูกหางเลขในช่วงการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
เรื่องถัดมาซึ่งดูจะเป็นประเด็นใหญ่และมีผู้ให้ความสนใจมากกว่าคือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) ได้จัดชุมนุมคนเสื้อแดงขึ้นเป็นครั้งแรกหลัง พ.ร.ก. ณ ท้องสนามหลวง ในวันเสาร์ที่ 25 เมษายน ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ถึงเวลาประมาณ 23.00 น.
ก่อนหน้าการชุมนุมเกิดสงครามข่าวสารในเรื่องนี้มาตลอดทั้งวัน ในเว็บไซต์ต่างๆของทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มคนหลากหลายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประเด็นแรกคือความพยายามให้การชุมนุมครั้งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญเป็นการอาศัยการปล่อยข่าวด้านความไม่ปลอดภัย เนื่องจากเป็นไปได้ว่าอาจมีการแทรกซึม-ก่อกวนโดยกลุ่มสร้างสถานการณ์ด้วยความรุนแรงเช่นที่เกิดขึ้นที่พัทยาในวันที่ 11 เมษายน
ส่วนอีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือการแตกแยกเป็น 2 ฝ่ายในทางความคิด รวมทั้งบทบาทและทิศทางการเคลื่อนไหวของแกนนำ นปช. ซึ่งฝ่ายหนึ่งนำโดยนายจักรภพ เพ็ญแข ประกาศนำการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย “ลงสู่ใต้ดิน” หลังจากรัฐบาลใช้มาตรการทางทหารทั้งโดยรูปแบบและเนื้อหา ที่หลายเสียงค่อนข้างเห็นว่า “ไม่ได้มาตรฐานสากล” สำหรับการชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบและปราศจากอาวุธ
ซึ่งในประเด็นนายจักรภพนี้ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำรุ่น 2 ร่วมกับนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ให้ความเห็นต่อผู้สื่อข่าวว่า “ภายใต้ระบอบเผด็จการ จักรภพมีสิทธิเสนอความคิด ถ้าคุณยิ่งเป็นเผด็จการ ขบวนการอย่างจักรภพจะเติบโต แต่ถ้าคุณเป็นประชาธิปไตย ขบวนการอย่างพวกผมที่คนเสื้อแดงมาชุมนุมแบบนี้จะเติบโต ปัญหามันอยู่ที่รัฐบาล ถ้าคุณเป็นเผด็จการเขาก็มีสิทธิจะต่อสู้ ก็คุณไปปิดกั้นเสรีภาพเขา เขาก็มุดลงดิน คุณต้องเปิด ต้องมีเสรี มีพื้นที่ให้เขายืนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ดูถูกเหยียดหยามพวกคนเสื้อแดง แล้วคิดจะทำอะไรกับพวกเขาก็ได้”
ส่วนนายจรัลแถลงต่อหน้าผู้เข้าร่วมชุมนุมในช่วงเย็นซึ่งมีจำนวนประมาณ 5,000 คน ก่อนจะเพิ่มจำนวนเป็นกว่าหมื่นคนในเวลาประมาณ 20.00 น. ว่า “จะมีการตั้งสมัชชาแกนนำแห่งชาติขึ้นเพื่อประสานงาน และจัดเป็นองค์กรในการเคลื่อนไหวให้หนักแน่นต่อไป”
ทั้งนี้ ผู้ปราศรัยทั้งหมดบนเวทียืนยันอย่างหนักแน่นว่านับจากนี้ไปจะใช้แนวทางสันติอหิงสาในการเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวด ระมัดระวังการแทรกแซงหรือการผสมโรงสร้างความรุนแรงโดยกลุ่มแอบอ้างที่มีเป้าหมายก่อกวน ยั่วยุ และสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในหมู่ประชาชนทั่วไป ซึ่งอาจจะสับสนในการเคลื่อนไหวของคนสีเสื้อต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ที่เน้นคือจะไม่ใช้ประเด็นตัวบุคคลเป็นเป้าหมาย จะไม่มีการไล่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่จะเป็นการเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมา
อันที่จริงประเด็นเฉพาะเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” นั้นต้องถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ของ นปช. ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากจุดเริ่มต้นการชุมนุมของกลุ่มคัดค้านการรัฐประหาร 19 กันยา จากกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ เช่น กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ที่มีการรณรงค์สืบเนื่องมาจนถึงการลงประชามติรับร่าง “รัด-ทำ-มะ-นูน” เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ซึ่งผลที่ออกมาคือมีผู้มาใช้สิทธิ 25,978,954 คิดเป็น 57.61% จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 45,092,955 ในจำนวนนี้เห็นชอบ 14,727,306 คิดเป็น 57.81% และไม่เห็นชอบ 10,747,441 คิดเป็น 42.19%
ทั้งนี้ มีการกล่าวถึงประเด็นการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญในช่วงก่อนและหลังวันที่ 19 สิงหา ถึงเหตุผลและความเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวออกมาให้ความเห็น หรือที่พยายามให้นิยามคำจำกัดความไว้ว่า “ฝ่ายกลาง” เรียกร้องให้ “เห็นชอบ” กับกฎหมายแม่บทของชาติที่จัดทำขึ้นโดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” อันเป็นผลผลิตของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)” ที่ต่อมากลายสภาพเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)”...
และรวมไปถึงเสียงสอดประสานจากการเมืองในปีกประชาธิปัตย์ พร้อมกับเสียงแผ่วหวิวเจือปนอยู่ในอากาศว่ารับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้กันทีหลัง นำไปสู่การเรียกร้องหลายๆรอบ นับจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 และการเมืองไทยผ่านไปแล้วถึง 3 รัฐบาล ที่ประกอบขึ้นจากรัฐบาลผสมนำโดยพรรคการเมืองเสียงข้างมาก (ก่อนคำวินิจฉัยยุบพรรค) 2 ชุด และนำโดยพรรคการเมืองเสียงอันดับ 2 กับกระบวนการสมานฉันท์ “พิเศษ” ซึ่งจนแล้วจนรอด กระบวนการแก้ไข “รัด-ทำ-มะ-นูน” ก็ดูเหมือนจะติดขัดด้วย “เหตุผลอะไรสักอย่าง” จากปีกที่ไม่ได้มาจากกลุ่มก้อนที่ประกาศไม่เห็นชอบในคราวลงประชามติ 19 สิงหา
เป็น “เหตุผลอะไรสักอย่าง” ที่ไม่เคยเกี่ยวข้องแม้แต่น้อยกับการกลับมาของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้จะมีบางกลุ่มบางพวกพยายามโยงเข้ากับการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย “สมบูรณ์” ของกลุ่มคนเสื้อแดงในการสกัดยับยั้งขบวนการ “ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” จากกลุ่มและรูปแบบต่างๆนำไปสู่วิกฤตการณ์การเมืองในช่วงที่ผ่านมา อันนำไปสู่การใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าสลายการชุมนุมเรียกร้อง 2 ระยะ ที่หลายฝ่ายเริ่มทวงถาม “มาตรฐานในการปฏิบัติการ” และ “ความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย”
อยากจะเน้นย้ำอีกครั้งว่าการเคลื่อนไหว “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ก็ดี หรือกระทั่งการเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญ 2540” ก็ดี เป็นประเด็นหลักของขบวนการประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร 2549 มาโดยตลอด ไม่มีเหตุผลเบื้องหน้าเบื้องหลังที่จะยกมากล่าวอ้าง ความมุ่งมั่นแน่วแน่ของประชาชนกลุ่มต่างๆที่ผ่านกรณี “สงกรานต์เลือด” มาแล้ว สะท้อนถึงจิตใจ “กล้าสู้ กล้าชนะ” ดังที่นายจรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำ นปช. รุ่น 2 เคยประกาศไว้ทั้งบนเวทีปราศรัยและในบทความหลายกรรมหลายวาระ
และการชุมนุมเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2552 เท่ากับเป็นการย้ำยืนยันอีกครั้งว่า
ขบวนการประชาชนที่ประกอบกันเข้าเป็นพลังประชาธิปไตยนั้นฆ่าไม่ตายทำลายไม่หมด
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 4 ฉบับที่ 205 วันที่ 2-8 พฤษภาคม 2552 หน้า 10 คอลัมน์ “พายเรือในอ่าง” โดย อริน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น