ชาวดิน ออนเน็ต

***อนิจา วาสนา ไพร่***

เรียกร้องเถอะ ร่ำหา กันให้ตาย
เคยบ้างไหม เคยได้ สิ่งที่หวัง
กราบแทบเท้า ติดดิน ร้องเสียงดัง
มีสักครั้ง บ้างไหม ใครเมตตา

สิ่งที่ขอ รอมา กี่ชาติแล้ว
ไร้วี่แวว สิทธิ ที่ใฝ่หา
เป็นแค่ไพร่ เขาชี้ เป็นอีกา
อย่าได้มา ร่วมหงส์ ดงผู้ดี
ร้องขอมา กี่ปี กี่ชาติแล้ว
ก็ไม่แคล้ว โดนด่า ฆ่าทุบตี
จากปู่ย่า มาถึง ทุกวันนี้
ถูกย่ำยี ไล่บี้ ให้จำนน
ตายแล้วสิบ เกิดใหม่ ได้เป็นแสน
แต่ขาแขน ถูกตรึง ด้วยเล่ห์กล
แล้วเมื่อไหร่ สิ่งนี้ จะหลุดพ้น
รับกฏโจร กฏหมาย ไร้ปราณี
อนิจา วาสนา ชะตาไพร่
ถูกใส่ร้าย กล่าวหา ว่าบัดสี
ทั้งหมอบกราบ ก้มไหว้ อย่างภักดี
แพ้วจี คนโฉด โป้ปดลวง
คงถึงครา แล้วหนา บรรดาไพร่
แม้ร่ำไห้ ร้องขอ ก็ช้ำทรวง
เขาไม่แล พวกเรา ไพร่ทั้งปวง
ต้องวัดดวง ทวงค่า ความเป็นคน


โดย ยรรยง ลูกชาวดิน

7 / มีนาคม / 2553
........


วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 14, 2552

น้ำพริกถ้วยละ1.6แสนล้าน

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
ปีที่ 4 ฉบับที่ 194
....................




งบประมาณกลางปีกว่า 1.61 แสนล้านบาทที่รัฐบาลนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศนั้นจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนในประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้นได้มากน้อยเพียงใด นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการงบประมาณ จะแยกแยะผ่านวัฒนา อ่อนกำปัง สู่ท่าน

การจัดทำงบประมาณเป็นอย่างไร

การจัดทำงบประมาณกลางปี 161,700 ล้านบาท เท่าที่ติดตามดูจากการจัดงบประมาณเช่นนี้คิดว่าการที่รัฐบาลตั้งเป้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้จีดีพีโตถึง 0.5% คิดว่าลำบากมาก แทบจะมองไม่เห็นโอกาสการเติบโตของจีดีพีตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ เห็นว่าเม็ดเงินงบประมาณที่ลงไปไม่ว่าจะงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการที่จะจัดงบประมาณในการซื้อชุดนักเรียน 4,000 ล้านบาท จัดซื้อหนังสือ 6,000 ล้านบาท มันไม่กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเท่าไร แต่จะกระตุ้นต่อมทุจริตมากกว่า และยังจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง แต่ถามว่าจะกระตุ้นขนาดไหน ผมว่าลำบากในการตรวจสอบ เพราะเป็นการงุบงิบกันในการจัดทำงบประมาณดังกล่าว ผมจึงติดใจตรงนี้

เพราะการจัดทำงบประมาณรัฐบาลตั้งเป้าจะกระตุ้นการใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน แต่ผมมองว่าไม่มีประโยชน์ เพราะแม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งมีสภาพหนักกว่าเรา เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่กว่าเรา สภาผู้แทนราษฎรของประเทศสหรัฐไม่แตกแยกเหมือนบ้านเรา ทั้งสองพรรคร่วมมือกันอนุมัติผ่านงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 850,000 ล้านเหรียญ ถือเป็น 6% ของจีดีพี ปรากฏว่าอเมริกายังยอมรับความเป็นจริง เพราะรัฐบาลของสหรัฐคาดการณ์ว่าจีดีพีจะโตประมาณ -8.2% แต่ประเทศไทยใช้เงิน 161,700 ล้านบาท คิดเป็น 0.01% ของจีดีพี แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอกจะทำให้จีดีพีโต 0.5-1.00% ผมว่ามันลำบากมาก เพราะมองภาพความเป็นจริงแล้วแทบไม่เห็นว่าจะเป็นไปตามเป้าประสงค์ของรัฐบาลที่ตั้งไว้

มีปัจจัยใดบ้างที่จะก่อให้เกิดการทุจริต

ปัจจัยที่เห็นเด่นชัดคือ การจัดทำงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ยอมรับว่าจากนโยบายที่อัดงบประมาณลงไปนั้นส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการในการผลิตแบบเรียนต่างๆ บรรดาผู้ประกอบการโรงพิมพ์ต่างๆวิ่งวุ่นกันไปหมดในขณะนี้ โดยเฉพาะโรงพิมพ์หนังสือเรียนที่ตอนนี้ได้ข่าวว่ามีการติดต่อประสานงานกันทั้งในส่วนของนักการเมืองกับผู้ประกอบการ เพราะงบประมาณในการจัดทำหนังสือเรียนตั้งไว้สูงถึง 6,000 ล้านบาท ผมบอกได้เลยว่าจะมีปัญหา เพราะหนังสือเรียน การดีไซน์หนังสือลดทอนได้ แต่วัตถุประสงค์ให้ยืมเรียน 3 ปีจะเกิดการวุ่นวายตามมา ที่สำคัญความหนาของกระดาษ คุณภาพของกระดาษ เรารู้เลยว่าราคาน่าจะเท่าไร

งบประมาณในการจัดซื้อชุดนักเรียนก็เช่นกัน ที่มีการตั้งงบประมาณไว้กว่า 4,000 ล้านบาท ที่จะต้องจับตามากเป็นพิเศษ เพราะหากซื้อของดีก็ดีไป แต่หากซื้อมาแล้วแต่คนละเนื้อผ้าราคาก็ต่างกัน ตรงนี้ที่จะเป็นจุดทุจริต ซึ่งคิดว่าจะมีการทุจริตที่กระทรวงศึกษาธิการมากที่สุด เพราะงบประมาณกว่า 19,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่จับต้องได้เพียง 10,000 ล้านบาท ที่เหลือไม่สามารถจับต้องได้ เพราะเป็นงบกิจกรรมที่ไม่รู้กิจกรรม ไม่มีที่มาที่ไป เงินกว่า 9,000 ล้านบาทเป็นเงินของพี่น้องประชาชน เขามีสิทธิที่จะรู้ว่าเงินเขาไปไหน ไปทำอะไร แต่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญ ผมว่างบประมาณก้อนนี้มีปัญหาแน่

มาตรการที่ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายหรือไม่

หากถามว่าการจัดทำงบประมาณกลางปีของรัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้หรือไม่ ผมว่าเป็นการกระตุกเศรษฐกิจมากกว่า เพราะการกระตุ้นคือการหมุนเม็ดเงินในตลาด แต่นี่รัฐบาลเอาเงินให้เลย เช่น ให้เงิน 2,000 บาทต่อคน ไม่ใช่วิธีการที่ดีเลย เพราะตอนนี้น้ำมันขึ้น สินค้าต่างๆขึ้นทุกอย่าง เขาก็จะใช้เงินเดือน ส่วนที่รัฐบาลให้ไปเขาก็จะเก็บไว้ เพราะที่ผ่านมาไม่มีเงินเก็บ ลำพังแต่เงินเดือนก็ไม่พอใช้ ดังนั้น เมื่อรัฐบาลให้มาแทนที่จะเอาไปหมุนก็เอาไปเก็บแทน แล้วใช้จำนวนเงินเท่าเดิม

อีกเรื่องต้องยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำของการจัดทำงบประมาณในการช่วยเหลือบรรดาอาสาสมัครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมอดินอาสา อาสาป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนหรือ อปพร. ประธานชุมชน และอาสาสมัครทั้งหลายไม่ได้เงินช่วยเหลือ ได้เฉพาะอาสาสมัครหมู่บ้านหรือ อสม. และ อสม. ที่ปัจจุบันนี้เพิ่มจาก 830,000 คน เป็น 1,200,000 คน ใครไปลงทะเบียนหลังเดือนมกราคม 2551 ก็ไม่ได้เงิน ก็จะทะเลาะกัน ดูแล้วจะได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งหลังเดือนมกราคมมีประชาชนขอลงทะเบียนเพิ่มอีก 400,000 กว่าคน เพราะรู้ว่าจะได้เงินหรือเปล่า การสมัครง่ายมาก ไม่ได้มีหลักฐานอะไรมากมาย ไม่เหมือนสมัครงาน

การให้เงินกับ อสม. ไม่ยุติธรรมกับคนอื่น

ไม่รู้รัฐบาลมองอย่างไร เพราะปัจจุบัน อสม. จะมีเงินประจำหมู่บ้านละ 10,000 บาทอยู่แล้ว และมีมติคณะกรรมาธิการให้อีกท้องถิ่นละ 20,000 บาท แต่ก็เบี้ยวกันไม่จัดสรรลงไปให้ อสม. รัฐบาลเลยแจกให้เอง แต่ให้เพียง 6 เดือน เดือนละ 600 บาท ไม่ใช่ให้ตลอด เชื่อว่ารัฐบาลไหนมาก็ไม่กล้าตัดงบตรงนี้ ถ้าตัดคือฆ่าตัวตาย สมควรให้เค้า การทำอะไรก็ต้องคิด ตอนนี้ถือว่าเป็นขาลง เงินที่มาจัดทำงบประมาณในปีนี้ก็กู้มาหมด อย่างที่ ส.ส. อภิปราย จะไปทำประชานิยมขาลงมันไม่ง่ายนัก สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จัดทำงบประมาณนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น เงินหาง่าย ทั้งภาคการส่งออก สินค้าเกษตร แต่ครั้งนี้เป็นการกู้เงินมาแก้ปัญหา ผมว่ามีปัญหาแน่นอน ขนาดเงินกู้มาใช้หนี้จำนวน 19,000 ล้านบาท ก็ไม่รู้ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะไปกู้มาใช้หนี้

เมื่อก่อนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยกล่าวหารัฐบาลทักษิณ เช่น นำกองทุนเงินล้านมาหาเสียงและไม่สามารถช่วยชาวบ้านได้ เพราะชาวบ้านมีหนี้อยู่แล้ว แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์กลับมาทำตามนโยบายที่ตนเองบอกว่าเป็นนโยบายที่ไม่ดี แล้วเดี๋ยวนี้รัฐบาลกู้เงินมาทำตามนโยบายที่ตัวเองโจมตี ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้บอกว่าไม่ดี ไม่ได้เรื่อง แต่ตัวเองกลับทำตาม มันก็ดูแปลกๆ ผมว่ามันจะอันตราย เพราะรัฐบาลทำตามโดยไม่รู้ปรัชญาที่แท้จริงในนโยบายนี้

การแก้ปัญหาแรงงานถูกจุดหรือไม่

การจัดทำนโยบายด้านแรงงานนั้นผมว่ารัฐบาลตีโจทย์ผิด เพราะรัฐบาลดำเนินนโยบายในการให้เงินกินเปล่ากับผู้ประกันตนและข้าราชการคนละ 2,000 บาท ทั้งหมด 9 ล้านคน ผมว่าเม็ดเงินไม่กระจายกลับสู่ระบบ เงินจะไปสู่ระบบธนาคารมากกว่า เพราะคนที่มีเงินเดือนเกือบ 15,000 บาท ผมว่าเขาอยู่ได้ในสถานการณ์เช่นนี้ และไม่คำนึงถึงเงินที่จะได้จากรัฐบาลเท่าไร ได้มาก็ใช้จ่ายเท่าเดิม ดังนั้น การที่รัฐบาลออกนโยบายในการจะกระจายเม็ดเงินไม่ยากเลย เพราะประเทศไทยมีครอบครัวที่ยากจน 1.6 ล้านครอบครัว ก็แจกไปครอบครัวละ 1,000 บาท เท่ากับงบที่ตั้งไว้พอดี ยุติธรรมกับคนยากจน คนยากจนจะได้หมดไป แต่นี้ให้เฉพาะผู้ประกันตนกับข้าราชการ บรรดาข้าราชการในส่วนของท้องถิ่นก็ไม่ได้ เลยกลายเป็นฝนตกไม่ทั่วฟ้า

ลือว่ารัฐบาลเร่งหาเงินห้าแสนล้านจริงหรือไม่

ตรงนี้ไม่รู้ แต่ไม่ได้เกินเลยไปกว่านี้แน่ เพราะการจะหาเงินไม่ได้หาง่ายๆ ขณะนี้รัฐบาลเหลือเงินคงคลังเพียง 52,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งหาเงินเข้ามาให้มากที่สุด การขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันจึงเป็นเป้าหมายหลัก โดยมีข่าวออกมาว่ารัฐบาลจะเก็บเงินภาษีสรรสามิตน้ำมันที่ 5 บาทต่อลิตร ซึ่งถือเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค เพื่อหาเม็ดเงินเข้ามาให้มากที่สุด หมายถึงพี่น้องประชาชนต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สวนทางกับที่รัฐบาลบอกว่าจะเพิ่มเม็ดเงินในกระเป๋าให้กับพี่น้องประชาชน

ล่าสุดได้ข่าวว่ารัฐบาลจะไปสหรัฐอเมริกาเพื่อขอกู้เงิน ตอนนี้รายได้ไม่มี การส่งออกตาย ท่องเที่ยวตาย และจากการเก็บภาษีน้ำมัน ผมคิดว่ารัฐบาลจะได้ประมาณเดือนละ 7,000-8,000 ล้านบาท ส่วนการขึ้นภาษีน้ำมันคิดว่าทำได้ไม่นานหรอก ขนาดขึ้นล็อตแรกก็หูชาแล้ว และเดือนกุมภาพันธ์จะขึ้นอีก 2 รอบ ถือว่าการกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลเป็นการปล้นประชาชนมากกว่า ประชาชนตอนนี้เดือดร้อนจริงๆ รัฐบาลต้องพยุงเศรษฐกิจ ต้องประหยัด ทำเศรษฐกิจอย่างพอเพียงจริงๆ แต่นี่เชื่อว่าประชานิยมอย่างเดียวจะทำให้ประชาชนรักรัฐบาลมากขึ้น แต่ตรงข้ามกันเลย เป็นประชานิยมแบบผิดที่ผิดทาง แล้วเจอการเก็บภาษีอีก ผมว่าเป็นการทำลายประชาชน คนจะเริ่มหยุดใช้เงิน อย่างการจัดเก็บเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT เพิ่มขึ้น ผมว่ารัฐบาลไม่กล้าทำหรอก เพราะหากทำก็เท่ากับฆ่าตัวตาย จะกล้าขนาดนั้นหรือ พูดง่ายๆถ้าเพิ่ม VAT เมื่อไรระยะเวลาของรัฐบาลก็จะสั้นลง

ผมยังงงกับกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ออกมาพูดเรื่องประธานาธิบดีในเมืองไทย มันจะเป็นไปได้อย่างไร นี่คือประเทศไทยนะครับ ใครจะกล้าคิด ผมเข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์มองทุกอย่างเป็นการเมือง จึงคิดแต่เรื่องการเมืองอย่างเดียว

เมื่อพูดถึงเรื่องงบประมาณ ผมเห็นว่ากรรมาธิการงบประมาณชุดนี้ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะเป็นการจัดทำงบประมาณภายใต้ภาวะตึงเครียดทางการเมือง ดังนั้น การใช้เหลี่ยมคูทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์จึงมากเป็นพิเศษ จึงต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ไว้เลยว่าการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณตัดไม่ได้แม้แต่บาทเดียว เพราะรัฐบาลไม่ยอมให้ตัด

การจัดทำงบประมาณปี 2553 เป็นอย่างไร

การจัดทำงบประมาณประจำปี 2553 น่าจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาในช่วงเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งไม่รู้จะจัดงบแบบไหน เพราะการจัดเก็บรายได้ปีนี้พลาดเป้า 132,000 ล้านบาท ขาดดุล 347,500 ล้านบาท ถือว่าสถานการณ์ทางการเมืองง่อนแง่น ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกขณะนี้น่ากลัวมาก และมักมีคำถามว่ารัฐบาลไปได้ไหม ผมว่าเมืองไทยเจอ 2 เด้งทั้งการเมืองและพิษเศรษฐกิจ

ดังนั้น จีดีพีของไทยความจริงน่าจะอยู่ที่ -2% ในสถานการณ์ปรกติ แต่เจอพิษการเมืองเลยกลายเป็น -4% ผลที่ตามมาก็อันตรายมาก คนตกงานเพิ่มขึ้น ภาพรวมอาจมีคนตกงานถึง 3 ล้านคน ตอนนี้คนตกงานในเดือนพฤศจิกายนมี 18,000 คน เดือนธันวาคม 30,000 คน และเดือนมกราคมมีกว่า 70,000 คน ส่วนมาตรการที่รัฐบาลออกมารองรับนั้นคิดว่าเหมาะสม แต่ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจบ้านเราเท่าไร

คุณธนินทร์บอกว่าทุกอย่างต้องดับเบิ้ล

คุณธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มซีพี ให้สัมภาษณ์ว่าหากจะกู้เศรษฐกิจของประเทศทุกอย่างต้องดับเบิ้ลหรือเพิ่มเป็น 2 เท่าจากที่รัฐบาลไทยรักไทยเคยทำไว้ ถามว่าตอนนี้จะเอาไรไปดับเบิ้ล ไม่ง่ายเลยจากภาพรวมในปัจจุบัน ตอนนี้เศรษฐกิจบ้านเราเป็นแบบนี้ เติมไปร้อยหมุนได้ห้าสิบก็เก่งแล้ว มันไม่ใช่เศรษฐกิจขาขึ้นเหมือนปี 2544 แต่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลง คนละสถานการณ์กัน จะทำเหมือนกันไม่ได้ รัฐบาลไม่เข้าได้ใจในตรรกะที่จะทำเลยว่าต้องทำเช่นไร มองมุมไหน ดังนั้น ไม่ง่ายอย่างที่รัฐบาลคิดแน่

อนาคตของประเทศไทยเป็นอย่างไร

ตอนนี้ยังมองไม่ออกจริงๆ แต่ที่สัมผัสได้คือเศรษฐกิจในประเทศตกลงเรื่อยๆ บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกว่าจะเริ่มฟื้นตัวในอีก 2 ปีข้างหน้า อันนี้ส่งผลต่อประเทศไทยโดยตรง เพราะเราส่งออกมาก ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงมาก แต่โชคดีที่ประเทศไทยมีภาคการเกษตรมารองรับ บรรดาผู้ใช้แรงงานหรือพี่น้องประชาชนที่ตกงานกลับไปชนบทก็อยู่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายน้อย

แต่รัฐบาลไม่เน้นภาคเกษตร ไปเน้นภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เห็นแล้วน่าสงสาร ความจริงควรกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศมากกว่า ผมถึงบอกว่าการมองทุกอย่างเป็นการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์เป็นการทำร้ายประเทศมากกว่าพัฒนาประเทศ ซึ่งการจัดทำงบประมาณกลางปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2552 เท่าที่รู้มีคนจัดงบ 3 คน ไม่อยากเอ่ยชื่อ เมื่อทำเสร็จแล้วเอามาให้พรรคร่วมรัฐบาลดู บรรดาพรรคร่วมก็เห็นตัวเลข เมื่อจัดเสร็จแล้วก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะเขาไม่ให้ทำ

สถานการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างไร

ต้องยอมรับว่าการเมืองยังไม่นิ่ง ยังมีการโจมตีกล่าวหากันต่างๆนานา โดยในส่วนของพรรคเพื่อไทยก็กำลังจัดทัพกันอยู่ ยอมรับว่าพวกผมถูกเล่นจนบรรดาแกนนำของพรรคเกือบไม่เหลือจากการยุบพรรคทั้ง 111 จากสมัยพรรคไทยรักไทย และ 109 คนจากพลังประชาชน จนต้องให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นหัวเรือใหญ่ ส่วนเรื่องผู้นำฝ่ายค้านยังไม่จำเป็น เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ ดังนั้น การดำเนินการทางการเมืองก็เป็นไปตามปรกติ ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ทุกวันนี้การอภิปรายทั้งคณะไม่มีแล้ว ต้องอภิปรายเป็นรายบุคคลว่ารัฐมนตรีคนนั้นคนนี้เป็นอย่างไร ผมว่าปรกติทำได้อยู่แล้ว ไม่เป็นไร เมื่อก่อนมีอภิปรายทั้งคณะก็ทำกันไป ไม่มีกระทรวง ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญออกมาเช่นนี้ก็ไม่เสียหายอะไร

ตระกูลชินวัตรเข้ามาเพื่อไทยจะดีขึ้นหรือไม่

การเข้ามาของคนในตระกูลชินวัตรก็ช่วยประคองกันไป เพราะจะทำให้พรรคมีรูปแบบชัดเจน เป็นการเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ได้เป็นการชี้นำ ให้ตั้งไข่เดินได้เองอย่างมีคุณภาพ แต่มีแนวทางหรือความคิดเหมือนกัน ที่สำคัญประชาชน โดยเฉพาะภาคอีสานยังนิยมในตัว พ.ต.ท.ทักษิณอยู่มาก ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าหากรัฐบาลนี้อยู่ได้ถึง 6 เดือนจะดึงฐานเสียงภาคอีสานได้หมดนั้น ผมว่าฝันไปหรือเปล่า

พรรคภูมิใจไทยออกมาประกาศว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีจำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่า 140 คนนั้น อยากถามว่า ส.ส. ที่มีอยู่ตอนนี้ส่วนใหญ่ได้เป็น ส.ส. จากพรรคพลังประชาชนทั้งนั้นใช่หรือไม่ เพราะในช่วงหาเสียงมีการอ้างชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งนั้น และในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่พรรคภูมิใจไทยบอกว่าจะได้คะแนนเสียงในภาคอีสานเกินร้อยนั้น ผมว่าผู้บริหารพรรคเพื่อไทยควรตัดศูนย์ออกหรือเปล่า ถ้าได้ขนาดนั้นผมว่าเก่ง

การเตรียมตัวของพรรคเพื่อไทย

ตอนนี้ถือว่าลงตัวในระดับหนึ่ง มีการพูดคุยกันมากขึ้น มีแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนและเริ่มเสริมทัพทุกคนมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พรรคเพื่อไทยไม่มีใครเป็นผู้นำ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามมติพรรค ส่วนเรื่องหัวหน้าพรรคทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หรือ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ผมว่าไม่มีใครรับหรอก หากถามผมผมก็ตอบไม่ได้ ส่วนที่มีชื่อ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร นั้นผมยังไม่เห็นมีใครเสนอ มีเพียงนักข่าวเท่านั้น ไม่รู้ว่าท่านอยากมาอยู่พรรคเพื่อไทยหรือไม่ และไม่รู้ว่าผู้ใหญ่ในพรรคไปทาบทามหรือเปล่า เป็นการพูดกันไปเองทั้งนั้น

การเลือกตั้งจะเป็นการแข่งขันของ 2 พรรคใหญ่

น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่น่าจะเป็นการแย่งตำแหน่งของ 2 พรรคคือ พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคอื่นๆก็เป็นองค์ประกอบเท่านั้น บอกเลยว่าการทำพรรคการเมืองไม่ง่าย เพราะเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้พรรคใหญ่โต ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ประชาชนดูนโยบายพรรคแล้ว อย่าไปบอกว่าชาวอีสานซื้อได้ ตอนนี้เงินซื้อไม่ได้แล้ว บางทีเอาเงินแต่ไม่เลือกก็มี ส่วนแนวโน้มพรรคเล็กอยู่ไม่ได้หรอก อย่างพรรคชาติไทยพัฒนากับเพื่อแผ่นดิน ที่สุดอาจมาอยู่ด้วยกัน มันเป็นสัจธรรม หากพรรคเพื่อแผ่นดินจะถูกยุบ ส.ส. ก็ต้องมาอาศัยพรรคที่แข็งแกร่งกว่า

มองการออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างไร

ยอมรับว่าตลอดชีวิตทางการเมืองของผมไม่เคยเห็นประเทศไทยมีการต่อสู้ทางการเมืองที่รุนแรงขนาดนี้มาก่อน ผมว่าผลัดกันเป็นรัฐบาล ผลัดกันบริหารประเทศบ้างจะดีกว่า ไม่ใช่เอาเป็นเอาตาย การเมืองแบบนี้น่ากลัว หากเศรษฐกิจ การเมืองในประเทศยังไม่นิ่ง บ้านเมืองก็เดินไปไม่ได้ อย่างไรก็ขอภาวนาว่าอย่ารุนแรงเกินไป เพราะการแบ่งสี แบ่งพวก แบ่งภูมิภาค มันไม่ดีหรอก เท่าที่ดูผมว่าสีแดงพอมีเหตุผล แต่ตอนนี้เกิดยั่วยุกันจะโทษเสื้อแดงไม่ได้ จะยั่วยุกันทำไม ก็บริหารประเทศไป สีแดงทำอะไรก็ไม่ยืดเยื้อ ไม่ได้ปิดที่ไหนนอนค้างคืน

เมื่อทุกฝ่ายเล่นกันจนประเทศเสียหายหมดแล้ว เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ต้องทำ เพราะจะทำให้ทุกเรื่องสงบ ผมอยากให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทุกอย่างจะได้ยุติ หันหน้าเข้าหากัน จริงๆแล้วไม่ใช่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นการขอพระราชทานอภัยโทษทางการเมือง หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานอภัยโทษแล้วถึงจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้ ที่ผ่านมาก็มีการขอพระราชทานอภัยโทษคดีการเมือง ไม่ว่าจะเป็นจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประพาส จารุเสถียร พล.อ.สุจินดา คราประยูร ถือว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ต้องให้อภัยกัน หากมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้วทั้ง 220 ออกมาได้จริงผมว่าก็เป็นผลดีต่อบ้านเมืองที่มีคนเก่งมาทำงาน ตอนนี้ประเทศเราต้องการคนเก่ง

จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผมเชื่อว่าทั้งนักการเมืองฝ่ายบริหารและฝ่ายค้านรู้ดีว่าอะไรเป็นไร การทำงานยากลำบากแค่ไหน ผลสุดท้ายต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วย แต่จะเป็นเมื่อไรเท่านั้นเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญมีไว้ให้แก้ ไม่ให้ยึดไว้อย่างเดิม เพราะหากรัฐบาลมองว่ามาตราไหนไม่ดี เป็นปัญหาในการบริหารประเทศก็ต้องแก้ หากแก้แล้วเสื้อเหลืองจะกลับมาอีกหรือไม่นั้น ผมว่าความคิดคงห้ามกันไม่ได้ แต่ควรออกมาด้วยเหตุและผล ทุกวันนี้มีพฤติกรรมเลียนแบบกลุ่มพันธมิตรฯมากมาย ทำให้คนไม่เคารพกฎหมาย

กรณีนายกฯกู้เงินจากญี่ปุ่นผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เรื่องนี้เป็นเพียงข้อตกลง ยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาก็ไม่ผิด หากลงนามเมื่อไรก็ต้องผ่านสภา รวมทั้งต้องอธิบายเหตุผลในการกู้เงินให้กับประชาชนรับทราบเป็นข้อตกลง ยังไม่ได้กู้ แค่เจรจา ลงนามในสัญญาเมื่อไรต้องเข้าสภา และต้องอธิบายให้กับประชาชนรับทราบ

การเมืองไทยในอนาคตเป็นอย่างไร

การเมืองไทยทำนายยากมาก ไม่มีอะไรแน่นอน ใครจะคิดว่าคนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณที่มีความนิยมมากมาย แต่จะสะดุดล้มและถูกทำลายมากขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยจะยังคงเหลือระบบพรรคสองพรรคการเมืองใหญ่แน่นอน และฝ่ายทหารไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายการเมือง เพราะจากการรัฐประหารที่ผ่านมาทำให้การพัฒนาการเมืองไทยสะดุด มีการกล่าวหาในเรื่องต่างๆมากมาย และจะยังมีไปเรื่อยๆ การเมืองมีวิวัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก่อนไม่ได้เลือกนโยบายพรรค เลือกคนกับเงิน เดี๋ยวนี้ไม่ง่าย อย่าคิดว่าจะซื้อเสียงได้ เรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณครั้งนี้ก็ผ่านอยู่แล้ว แต่เห็นว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำมากกว่า เพราะเงินที่ออกมาไปไม่ถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก